เทพธาโร

เทพธาโร

ชื่อสมุนไพร : เทพธาโร
ชื่ออื่นๆ
จวง, จวงหอม(ภาคใต้), จะไคต้น, จะไคหอม(ภาคเหนือ), พลูต้นขาว(เชียงใหม่), มือแดกะมางิง(มลายู-ปัตตานี), การบูร(หนองคาย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum porrectum (Roxb.) Kosterm.
ชื่อวงศ์ : Lauraceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นเทพธาโร เป็นไม้ต้น สูง 10-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่ม ทึบ กิ่งอ่อนเกลี้ยงและมักจะมีคราบขาว เปลือกสีเทาอมเขียวหรือสีน้ำตาลคล้ำ แตกเป็นร่องยาวตามลำต้น
  • ใบเทพธาโร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรีแกมรูปไข่ ยาว 7-20 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนสอบ ก้านใบเรียวเล็ก ยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร
  • ดอกเทพธาโร ดอกสีขาว เหลืองอ่อน ออกเป็นช่อประจุกตามปลายกิ่ง
  • ผลเทพธาโร ผลกลมเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.7 เซนติเมตร สีเขียว

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เปลือก, ต้น

สรรพคุณ เทพธาโร :

  • รสร้อน ใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้ลม จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้อาการปวดท้อง ขับผายลมได้ดี ขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหารให้เรอ เป็นยาบำรุงธาตุ ขับเสมหะ
  • เปลือกต้น รสร้อน มีน้ำมันระเหย 1-25 % และแทนนิน แก้ลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง ขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหาร บำรุงธาตุ
  • ราก ยาขับลมชื้นในร่างกาย ยาแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ ขับลมในกระเพาะลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้องน้อย ยาแก้ฟกช้ำ ไขข้ออักเสบ เนื่องจากมีลมชื้นเกาะติดภายใน
  • เนื้อไม้ ยาบำรุงธาตุ ยาหอมลม รักษาท้องขึ้น อืดเฟ้อ จุกเสียด ยาขับลมในลำไส้ ยารักษาฝีลม ยาช่วยขับโลหิตและน้ำเหลือง
  • เมล็ด ยาแก้ไข้หวัด แก้ไอ อาการไอเรื้อรัง ตัวร้อน ออกหัดตัวร้อน ยาแก้บิด

[su_quote cite=”The Description”]วิธีการใช้ : เนื้อไม้สีขาว มีกลิ่นหอมฉุนเหมือนกลิ่นการะบูน อาจกลั่นเอาน้ำมันระเหยออกมาจากเนื้อไม้นี้ได้ และอาจดัดแปลงทางเคมี ให้เป็นการะบูนได้ ใบมีกลิ่นหอมเป็นเครื่องเทศตามร้านขายยาสมุนไพรในประเทศไทย ใช้ใบนี้เป็นใบกระวานสำหรับใส่เครื่องแกงมัสหมั่น ทุกร้านถ้าเราไปขอซื้อใบกระวานจะได้ใบไม้นี้ ส่วนใบกระวานจริงๆ เราไม่ได้ใช้กัน (ใบกระวานจริงๆ ลักษณะเหมือนใบข่า)[/su_quote]

Scroll to top