ชื่อสมุนไพร : เนียมหอม
ชื่ออื่นๆ : อ้มหอม, อ้มเนียม, เนียมอ้ม, เนียมข้าวเม่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Strobilanthes nivea Bremek.
ชื่อวงศ์ : ACANTHACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นเนียมหอม ลำต้น เป็นไม้ที่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมถึงค่อนข้างกลมและเป็นข้อปล้อง เป็นพืชชอบร่มรำไร ชื้นแต่ไม่แฉะ
- ใบเนียมหอม มีลักษณะเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กลับ มีขนสากทั่วไป ปลายใยหยักขอดเป็นติ่งสั้นหรือเว้าแหว่งเป็นริ้ว รูปใบแตกต่างกันมากจากค่อนข้างแหลมจนถึงกลมกว้าง ใบหนาสดหักง่าย ยาวประมาณ 1.5-11.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-9.5 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 0.75-7.5 เซนติเมตร ใบจะมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย
- ดอกเนียมหอม ออกเป็นช่อยาว 14-39 เซนติเมตร กลีบสีม่วงอ่อนหรือสีขาว ช่อดอกอออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมากและล้อมรอบรังไข่
- ผลเนียมหอม ผลกลมหรือลักษณะเหมือนรูปไข่กลับ ผิวของผลมีขนทั่วไป เมื่อแก่สีเหลือง ออกดอกติดผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ราก, ดอก
สรรพคุณ เนียมหอม :
- ใบสด แก้หวัด แก้ไข้ แก้ไอ บรรเทาอาการหอมหืด และขับลมในลำไส้
- ใบแห้ง ปรุงเป็นยานัตถุ์
- ราก รสหอมร้อน ต้มดื่มขับเหงื่อ ปรุงเป็นยารักษาแก้โรคมาลาเรีย ยาพอกหัวฝี หรือสิว ใข้มากอาจเกิดพิษได้
- ดอก รสหอมร้อน ชงดื่มแก้ไอ
[su_quote]สมัยก่อนต้นเนียมหอมจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางเครื่องหอมซะส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันมีการสังเคราะห์กลิ่นน้ำหอมทำให้เนียมหอมถูกลดความนิยมลงเรื่อยๆ แต่ในปัจจุบันก็มีการนำมาใช้ดองเหล้า ในกลุ่มคนที่ชอบร่ำสุรา… เพราะใบเนียมหอมสามารถทำให้เหล้าแรงๆ ที่ว่ากินยากๆ กลายเป็นเหล้าที่นุ่มคอ หอม ไม่แพ้เหล้านอกราคาแพงเลย[/su_quote]
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. 2539. พจนานุกรม สมุนไพรไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4 .ประชุมทองการพิมพ์: กรุงเทพมหานคร.
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. สารานุกรมสมุนไพร. โอเดียนสโตร์:กรุงเทพมหานคร.