เบญจมาศ

เบญจมาศ

ชื่ออื่น ๆ : เบญจมาศ, เบญจมาศหนู (ภาคกลาง), ดอกขี้ไก่ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), เก๊กฮวย (จีน)
ชื่อสามัญ : Chrysanthemum
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chrysanthemum morifolium Ramat.
ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นเบญจมาศ ไม้ล้มลุก สูง 0.5-1.2 ม. แตกกิ่งมาก ผิวเปลือกต้นและกิ่งเป็นลายทางตามแนวยาว ค่อนข้างเกลี้ยง สีเขียวอมเทา ต้น กิ่ง และใบมีกลิ่น
  • ใบเบญจมาศ ใบเดี่ยว เรียงสลับ มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ค่อนข้างกลมถึงรูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง 3-5 ซม. ยาว 4-5 ซม. ปลายแหลม โคนตัดหรือสอบแหลมคล้ายรูปลิ่มแกมรูปฐานหัวใจ ขอบเว้าเป็นพู 3-5 พู รูปกลมหรือรูปไข่ ขอบเว้าเป็นจักหยาบๆ ปลายมนและเป็นติ่งเล็กๆ แผ่นใบหยาบ ด้านบนสีเขียวอมเทามีขนสีขาวประปราย เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบสีขาวเด่นชัด ด้านล่างสีเขียวอมเทามีขนหนาแน่นกว่าด้านบน ก้านใบยาว 1.5-3 ซม.
  • ดอกเบญจมาศ ช่อดอกออกที่ปลายกิ่งและตามง่ามใบบนๆ มีใบประดับรูปแคบยาว เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก 2-5 ซม. ก้านช่อดอกยาว 5-10 ซม. วงใบประดับแคบยาว รูปขอบขนาน มีขนสีขาว ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย มี 1-2 ชั้น กลีบรูปลิ้น สีขาวเหลืองหรือม่วง ยาว 0.8-1.2 ซม. ดอกกลางเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีจำนวนมาก ลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ 3 มม. ปลายเป็นแฉกเล็กๆ 5 แฉก สีเหลือง เกสรเพศผู้ 5 อัน ขนาดเล็กมาก อับเรณูยาวประมาณ 2 มม. รังไข่เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น, ใบ, ดอก, ลำต้น

สรรพคุณ เบญจมาศ :

  • ทั้งต้น ใช้เป็นยารักษาโรคตับ โรคประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ รักษาโรคไขข้ออักเสบ โรคตามืดในเวลากลางคืน รักษาอาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ เป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้เจริญอาหาร บำรุงประสาท บำรุงสายตา และยังช่วยป้องกันไม่ให้ผมหงอกเร็ว
  • ใบและดอก นำไปคั้นเอาน้ำใส่บาดแผล หรือใช้น้ำต้มจากใบและดอกกินรักษาโรคนิ่ว โรควัณโรค และโรคที่เกี่ยวกับต่อมน้ำเหลือง
  • ใบและลำต้น ใช้รักษาอาการภายนอก โดยการตำเป็นยา สำหรับพอกแผลน้ำร้อนลวก และโรคผิวหนังอื่น ๆ ก็ได้
Scroll to top