ชื่อสมุนไพร : เพกา
ชื่ออื่น ๆ : มะลิดไม้, มะลิ้นไม้, ลิดไม้(เหนือ), หมากลิ้นก้าง, หมากลิ้นช้าง(เงี้ยว-เหนือ), ลิ้นฟ้า(เลย), เบโก(มลายู-นราธิวาส), กาโด้โด้ง(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ดอก๊ะ, ด๊อกก๊ะ, ดุแก(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oroxylum indicum Vent.
ชื่อวงศ์ : BIGNONIACEA
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- เพกา เป็นพรรณไม้ยืนต้น ผลัดใบสูงประมาณ 4-20 ม. ลำต้นและกิ่งก้านจะมีรูระบายอากาศ
กระจัดกระจายทั่วไป ส่วนเปลือกนั้นจะเรียบเป็นสีเทา และบางทีก็จะแตกออกเป็นรอยตื้น ๆ เล็กน้อย หรือมีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ ที่เกิดจากใบที่ร่วงหล่นไปแล้ว
- ใบเพกา จะออกเป็นช่อคล้ายขนนกประมาณ 2-3 ชั้น มีใบเดี่ยว ๆ ตรงปลายก้าน และจะเรียงตรงข้ามชิดกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ใบย่อยจะมีลักษณะเป็นรูปไข่และรูปขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 3-9 ซม. และยาวประมาณ 4-14 ซม. ส่วนตรงปลายใบจะแหลม และขอบใบนั้นเรียบ โคนใบสอบกลมหรือคล้ายรูปไต มักจะเบี้ยว ก้านใบมีความยาวประมาณ 0.5-2.0 ม.
- ดอกเพกา จะออกเป็นช่อใหญ่ตรงยอด กลีบรองกลีบดอกจะมีความยาวประมาณ 2.4 ซม. มีลักษณะเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อเป็นผล กลีบดอกจะมีเนื้อแข็งมากและค่อนข้างหนา ภายนอกจะเป็นสีม่วงแดง หรือน้ำตาลคล้ำ ส่วนภายในจะเป็นเปรอะ ๆ หรือสีชมพู ตรงโคนจะเชื่อมติดกัน มีลักษณะเป็นรูปลำโพง บริเวณปากลำโพงด้านในนั้นจะเป็นสีขาวอมเหลือง หรือสีขาวอมเขียว
- เกสรเพกา เกสรตัวผู้จะมีประมาณ 5 อัน และจะติดกับท่อดอก โคนก้านจะมีขน ส่วนเกสรตัวเมียจะมีอยู่ 1 อัน มีท่อเกสรยาวประมาณ 4-6 ซม. เป็นสีม่วงคล้ำ
- เมล็ดเพกา (ผล) จะออกเป็นฝักแบน และยาว มีลักษณะคล้ายรูปดาบ มีความยาวประมาณ 45-120 ซม. มักจะห้อยระย้าอยู่เหนือเรือนยอด ส่วนเมล็ดนั้นจะมีลักษณะแบน มีปีกบางใสเป็นจำนวนมาก เมล็ดจะมีความกว้างประมาณ 2.5-4 ซม. และยาวประมาณ 5-9 ซม.
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกต้น, เมล็ด, ฝักอ่อน, ราก
สรรพคุณ เพกา :
- เปลือกต้น ใช้เป็นยาสมานแผล ทำให้น้ำเหลืองเป็นปกติ ขับน้ำเหลืองเสีย ขับเลือด บำรุงเลือด ดับพิษเลือด รักษาเสมหะจุกคอ ขับเสมหะ รักษาอาการจุกเสียด เปลือกต้นใช้ตำกับเหล้าใช้พ่นตัวแทนการอยู่ไฟ
╰☆ เปลือกเพกาผสมกับน้ำสุราใช้เป็นยากวาดประสะพิษซางชนิดเม็ดเหลือง รักษาละอองขึ้นในปาก คอ ลิ้น รักษาละอองไข้ รักษาซางเด็ก รักษาอาการปวดฝี ใช้ทารักษาอาการฟกบวม
╰☆ เปลือกสดเพกาผสมน้ำส้ม ใช้รักษาอาการอาเจียนไม่หยุด รักษาโรคบิด
╰☆ เปลือกเพกาใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ รักษาโรคมานน้ำ โรคเบาหวาน
╰☆ เปลือกเพกานำไปต้มกับสมุนไพรหลาย ๆชนิด แยกเอาแต่น้ำมันมาทาเพื่อรักษาองคสูตร รักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก ทวารเบา บรรเทาอาการฟกบวม และอาการคัน - เมล็ด ใช้เป็นยาขับถ่าย ส่วนเมล็ดแก่ใช้เป็นยาระบาย เป็นยารักษาอาการไอขับเสมหะ
- ฝักอ่อน ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ และใช้ขับผายลม
- ราก จะมีรสฝาดเย็นขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ เจริญอาหาร ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร รักษาโรคบิด ท้องร่วง รักษาโรคไข้สันนิบาต และรักษาอาการอักเสบฟกบวมให้ใช้รากฝนกับน้ำปูนทา นอกจากนี้ยังใช้ ใบ ดอก ราก ลำต้น รวมกัน จะมีรสฝาดเย็น ใช้เป็นยาสมานแผล อาการอักเสบบวม รักษาโรคท้องร่วง โรคไข้เพื่อลมเพื่อเลือด และรักษาน้ำเหลือง