ชื่อสมุนไพร : เล็บครุฑ
ชื่ออื่นๆ : ครุฑเท้าเต่, ครุฑทอดมัน, ครุฑใบเทศ, ครุฑผักชี, เล็บครุฑใบฝอย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyscias fruticosa (L.) Harms
ชื่อวงศ์ : ARALIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นเล็บครุฑ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราว 2 เมตร ลักษณะต้นเป็นข้อ ลำต้นอ่อนมีสีเขียวอ่อนแกมน้ำตาลอ่อน เมื่อลำต้นแก่เต็มที่ก็จะเปลี่ยนกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นจะมีรอยแผลของกาบใบ
- ใบเล็บครุฑ แตกออกจากลำต้น และกิ่ง โดยเรียงสลับกันเป็นชั้นๆ ใบเป็นใบประกอบมีก้านใบหลักยาว โคนก้านใบหลักมีตุ่มหนามเล็กๆสีขาว และถัดขึ้นมาเป็นจุดประสีขาวสลับกับสีเขียวเข้ม จากนั้น ก้านใบหลักแตกก้านใบย่อยออก ก้านใบย่อยมีใบเรียงกันเป็นคู่ตรงข้ามกัน 5-9 ใบ โดยใบสุดท้ายเป็นใบเดี่ยว ใบย่อยแต่ละใบมีลักษณะเรียวยาว ขอบใบหยักลึกหลายหยัก คล้ายกรงเล็บ ส่วนปลายใบแหลม
- ดอกเล็บครุฑ ดอกแทงออกปลายยอดของลำต้น ช่อดอกมีขนาดใหญ่ และแตกแขนงช่อย่อยจำนวนมาก แต่ละช่อมีดอกรวมกันเป็นกระจุก 20-40 ดอก ช่อดอกแยกแขนง มีแกนกลางช่อยาว 60 เซนติเมตร ขนาดเล็ก ช่อดอกย่อยออกเป็นช่อซี่ร่ม กลีบดอก 5 กลีบ เกสรตัวผู้ 5 อัน
- ผลเล็บครุฑ มีลักษณะค่อนข้างกลม รวมกับหลายผลเป็นกระจุก มีเนื้อผล
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ทั้งต้น, ราก
สรรพคุณ เล็บครุฑ :
- ใบ รสหอมร้อน ตำพอกแก้ปวดบวมอักเสบ
- ทั้งต้น รสฝาดหอม สมานแผล แก้ไข้
- ราก รสร้อนหอม ต้มดื่ม ขับปัสสาวะ ระงับประสาท แก้ปวดข้อ
ข้อมูลอื่นๆ :
เล็บครุฑทุกชนิดสามารถปลูกขายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด แต่ทั่วไปนิยมใช้การปักชำ และการตอนกิ่ง เพราะจะได้ต้นที่ไม่สูงมากนัก และสามารถบังคับให้แตกกิ่งเป็นทรงพุ่มใหญ่เหมือนการปลูกด้วยเมล็ดได้
ยอดอ่อน และใบอ่อนมีกลิ่นหอม สามารถนำมาทอดเป็นผักหรือใช้รับประทานเป็นเครื่องเคียง ใบนำมาขยำ และใช้ทาเนื้อสัตว์ ก่อนนำไปย่าง ซึ่งช่วยให้เนื้อมีกลิ่นหอม น่ารับประทานมากขึ้น
ใบเล็บครุฑมีน้ำมันหอมระเหยที่ให้กลิ่นหอม สามารถนำสกัดสำหรับใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอม หรือนำมันสำหรับประโยชน์ในด้านความสวยความงาม