ชื่อสมุนไพร : เหมือดฟอง
ชื่ออื่นๆ : เหมือดจี้, เหมือดฟอง(ภาคเหนือ), เหมือดแอ(อุบลราชธานี), พลองขี้นก(ปราจีนบุรี,ประจวบคีรีขันธ์), พะงาด(นครราชสีมา), เก๊าจี้(คนเมือง), ริโค่ควี(กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ : Mueat chi
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Memecylon scutellatum Naudi
ชื่อวงศ์ : MELASTOMACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นเหมือดฟอง ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 9-12 เมตร เปลือกสีเทาอมน้ำตาล แตกเป็นร่องลึก และเห็นชัดเจนบริเวณโคนลำต้น กิ่งอ่อนแบน หรือเป็นสี่เหลี่ยมมีร่องตามยาว 2 ร่อง กิ่งแก่กลม
- ใบเหมือดฟอง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 1.5-4 ซม. ยาว 2.5-6 ซม. ปลายทู่หรือแหลม โคนมนหรือสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นกลางใบเป็นร่อง ทางด้านบนนูน ทางด้านล่างเส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ก้านใบ ยาว 4-5 มม. เป็นร่องทางด้านบน
- ดอกเหมือดฟอง ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกตามซอกใบ หรือตามข้อที่ใบร่วงไปแล้ว ช่อยาว 1.5-2.5 ซม. ดอกในช่อ 2-8 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.8-1 ซม. ก้านช่อดอก ยาว 1-5 มม. ก้านดอกย่อยยาว 1.5-2 มม. ใบประดับขนาดเล็กมาก ฐานรองดอกหนารูปถ้วยสีชมพู ยาว 2-4 มม. เกลี้ยง ปลายตัดหรือแยก กลีบเลี้ยง 4 แฉก เล็ก ๆ กลีบดอก 4 กลีบ หนา สีขาวอมม่วงหรือสีน้ำเงินเข้ม รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้างและยาว ประมาณ 3 มม. ปลายแหลม เกสรเพศผู้ 8 อัน ก้านชูอับเรณูสีม่วงอ่อน แกนอับเรณูหนา อับเรณูรูปจันทร์เสี้ยว มีต่อมตรงกลาง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี 1 ช่อง มี 2 ออวุล หรือมากกว่า ก้านเกสรเพศเมียสีม่วงอ่อน ยอดเกสร เพศเมียขนาดเล็ก
- ผลเหมือดฟอง ผลสดแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-7 มม. สีเขียวอมเหลือง เมื่อสุกสีม่วงถึงดำ
ส่วนที่ใช้เป็นยา : : ใบ, เนื้อไม้, ราก
สรรพคุณ เหมือดฟอง :
-
ใบ รสสุขุม(ขมเฝื่อนหอม) ปรุงยาทาแก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวกไม่ทำให้เกิดแผลเป็น ดับพิษปวดแสบปวดร้อน
-
เนื้อไม้,ราก รสสุขุม ฝนหรือต้มดื่มแก้ไข้ ถอนพิษผิดสำแดง ดับพิษร้อน แก้ไข้พิษ ไข้หัดและดับพิษภายในต่าง ๆ