ชื่อสมุนไพร : แครอท
ชื่ออื่นๆ : เครอท , ผักกาดหัวเหลือง, ผักชีหัว, หัวผักกาดแดง
ชื่อสามัญ : Carrot, Beesnest Plant, Bird is nest root
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Daucus carota Linn.
ชื่อวงศ์ : UMBELLIFERAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นแครอท ไม้ล้มลุกอายุ 2 ปี ตั้งตรง รากแก้วอวบหนา รูปสามเหลี่ยมหรือรูปทรงกระบอกมีหลายสี เช่น เหลือง ม่วง ส้ม แต่ที่นิยมรับประทานในปัจจุบันคือสีส้ม เป็นพืชแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียกลาง มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าแท่งดินสอ หรือที่เรียกว่าเบบี้แครอท ไปจนถึง ขนาดใหญ่ รากลักษณะของรากนั้นยาวแลเรียว จะเป็นสีส้มทั้งผิวและเนื้อ
- ใบแครอท เรียงเวียน ใบประกอบแบบขนนกหลายชั้น ใบย่อยเป็นรูปแถบแคบๆ มีก้านใบยาว โคนใบมักแผ่เป็นกาบ
- ดอกแครอท ช่อดอกเป็นช่อแยกแขนง ช่อย่อยเป็นช่อซี่ร่ม
- ผลแครอท แบบผลผักชี รูปไข่แกมรูปขอบขนาน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัว
สรรพคุณ แครอท :
- หัวแครอท ช่วยในระบบขับถ่าย
ช่วยบำรุงและรักษาสายตา รักษาโรคตาฟาง และต้อกระจก
ป้องกันโรคมะเร็ง ลดคอเสเตอรอล ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ช่วยในการชะลอวัย และการเกิดริ้วรอยแห่งวัย ทำให้ผิวชุ่มชื้น มีสุขภาพดี
ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง
ช่วยให้แผลหายเร็ว
เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ทำให้มีความคงทนต่อเชื้อโรคมากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม :
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
สำหรับการใช้แครอทตามสรรพคุณที่กล่าวข้างต้นนั้น จะเป็นการนำแครอทมารับประทานทั้งในรูปแบบรับประทานสด หรือ นำไปประกอบอาหาร แต่ทั้งนี้มีรายงานการศึกษาระบุว่าการรับประทานแครอท แบบที่ทำให้สุก จะให้คุณค่าทางโภชนาการสูงมากกว่าการรับประทานแบบดิบ เนื่องจากแครอทมีผนังเซลล์แข็ง เมื่อรับประทานเข้าไป ร่างกายจะไม่สามารถนำเบต้าแคโรทีนไปใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยจะสามารถเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนให้เป็นวิตามินเอ ได้เพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ซึ่งการทำให้สุกจะช่วยทำให้ผนังเซลล์ของแครอทสลายตัว ร่างกายจึงสามารถนำสารอาหารไปใช้ได้มากขึ้น และการรับประทานแครอทร่วมกับอาหารอื่นที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารเบต้าแคโรทีนได้มากขึ้น
ส่วนตำราแพทย์จีนได้ระบุการใช้แครอท เป็นยาสมุนไพรว่า
- ใช้รักษา ความดันโลหิตสูง คั้นน้ำจากหัวผักกาดแดง 100 กรัม กินวันละ 2-3 ครั้ง
- ใช้แก้ โรคตาฟางกลางคืน หรือ ตาบอดไก่ โดยนำหัวหัวผักกาดแดง 3 หัว ล้างให้สะอาด ต้มน้ำกิน หรือ กินสดๆ ติดต่อกัน 10 วัน หรือ นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เติมขิง เกลือ เล็กน้อย ใส่ตับหมู และทำให้สุกนำมากิน
- ใช้แก้ไอ โดยใช้หัวผักกาดแดง 120 กรัม พุทรา 10 ลูก น้ำ 3 ชาม ต้มให้เหลือ 1 ชาม กินไปเรื่อยๆ ติดต่อกัน 10 วัน
- ใช้รักษาอาหารไม่ย่อย โดยใช้หัวผักกาดแดงสด 250 กรัม เกลือ 3 กรัม ต้มเอากากทิ้ง แบ่งเป็น 3 ครั้ง กินติดต่อกัน 2 วัน หรือ จะต้มกับน้ำตาลแดงกินก็ได้
- ใช้รักษา ท้องผูก โดยนำหัวผักกาดแดง 500 กรัม คั้นน้ำเติมน้ำผึ้งพอควร กินวันละ 2 ครั้ง เช้า และค่ำ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
การรับประทานแครอทควรรับประทานแต่พอดี ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดภาวะที่ได้รับเบ้ตาแคโรทีนมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ถ่ายเหลว มีจ้ำเลือดตามตัว หรือ ปวดข้อ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับวิตามินเอ หรือ สารกลุ่มนี้มากเกินไป แต่อาการเหล่านี้จะหายไปได้เองเมื่อเราหยุดรับประทานไประยะหนึ่ง นอกจากนี้ในบุคคลบางกลุ่ม เมื่อรับประทานแครอทสดๆ อาจเกิดอาการภูมิแพ้ในช่องปาก มีอาการคันปาก เนื่องจาก ร่างกายทำปฏิกิริยากับโปรตีนในแครอท ดังนั้นจึงควรรับประทานแครอทที่ปรุงสุก
นอกจากนี้ยังมีการนำแครอทมาใช้ประโยชน์ในด้านความงาม เช่นมีการนำน้ำแครอทผสมมะนาว ทาผิวหน้าบำรุงผิวพรรณ ลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า และใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิด โลชั่นทาผิว โลชั่นทาหน้า และสบู่แครอท เป็นต้น
แครอท ถูกนำมาใช้บริโภคทั้งในรูปแบบอาหารคาว และหวาน รวมถึงในการนำมาบริโภคก็สามารถบริโภคได้ทั้งแบบสด และแปรรูป หรือ นำมาประกอบอาหาร เช่น ผัดแครอท ต้มจืด ต้มซุปต่างๆ น้ำแครอทพร้อมดื่ม น้ำแครอทเข้มข้น เครื่องดื่มแคทชนิดผล และชนิดเม็ด แครอทผง กากแครอทผง แครอทแผ่นกรอบ เค้กแครอท แครอทแผ่นกรอบ เครื่องดื่มจากแครอท และข้าวเกรียบแครอท เป็นต้น