แตงไทย

แตงไทย

ชื่อสมุนไพร :  แตงไทย
ชื่ออื่น :
แตงลาย (เหนือ), แตงจิง, แตงกิง (อีสาน), ซกเซรา (เขมร)
ชื่อสามัญ :  Muskmelon
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cucumis melo Linn.
ชื่อวงศ์ : CUCURBITACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นแตงไทย เป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นเถาเลื้อย มีขนอ่อน ปกคลุมตลอดทั้งลำต้นและใบ
    แตงไทย
  • ใบแตงไทย เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ขอบใบหยัก ก้านใบยาว
  • ดอกแตงไทย สีเหลือง มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ผลมีขนาดค่อนข้างใหญ่ รูปร่างกลมยาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล 12-15 ซม. ยาว 20-25 ซม.
  • ผลแตงไทย ผลอ่อนสีเขียวและมีลายสีขาวพาดยาว เมื่อผลแก่เปลือกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผิวเรียบเป็นมันเนื้อในผลสีเหลืองอ่อนอมเขียว กลิ่นหอม มีเมล็ดรูปแบนรี สีครีมจำนวนมาก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อผล, ใบและยอดอ่อน, ดอกอ่อน, เมล็ด, ราก

สรรพคุณ แตงไทย :

  • เนื้อผล ออกฤทธิ์เป็นยาเย็น ช่วยในการลดไข้ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้กระหายน้ำ บรรเทาอาการร้อนใน ช่วยให้เจริญอาหาร แก้อาการท้องอืดหรือท้องเฟ้อ และทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานดีขึ้น ขับน้ำนม บำรุงหัวใจและสมอง และยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ จากธรรมชาติ
  • ใบและยอดอ่อน รสจืด สามารถนำมาใช้เป็นยาลดไข้ ลดความร้อนภายในร่างกาย
  • ดอกอ่อน ตากแห้ง นำมาต้มน้ำดื่มทำให้อาเจียน แก้ดีซ่าน หรือนำมาบดเป็นผงพ่นแก้แผลในจมูก
  • เมล็ด ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ และแก้ไอ
  • ราก ต้มดื่มทำให้อาเจียน และระบายท้อง

คนไทยมักจะนำแตงไทยมารับประทานกันแบบสดๆ หรือรับประทานคู่กับน้ำกะทิเคี่ยวที่หวานหอมชื่นใจ จึงกลายเป็นเมนูของหวานที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยทำให้คลายร้อน และสามารถนำมาเป็นสมุนไพรเพื่อบำรุงผิวหน้าได้อีกด้วย

แตงไทยเป็นผักผลสดเช่นเดียวกับแตงกวา แต่คนไทยมักจะนำมารับประทานในฐานะผลไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีรสเย็นและมีวิตามินเอสูงมาก อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า “เบต้าแคโรทีน” จึงช่วยบำรุงสายตาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ในผลแก่ยังมีวิตามินซีสูงอีกด้วย โดยจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บำรุงผิวพรรณ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร. โอเดียนสโตร์ : กรุงเทพมหานคร.
Scroll to top