ชื่ออื่น : โกงกางใบใหญ่, กงกอน (เพชรบุรี, ชุมพร), โกงกางนอก, กงกางนอก (เพชรบุรี), กงเกง (นครปฐม), กางเกง, พังกา, พังกาใบใหญ่ (ภาคใต้), โกงกางใบใหญ่ (ภาคใต้), ลาน (กระบี่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhizophora mucronata Poir.
ชื่อวงศ์ : RHIZOPHORACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นโกงกางใบใหญ่ เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 30-40 เมตร มีรากเสริมออกมาเหนือโคนต้น 2-7 เมตร รากที่โคนต้นหรือรากค้ำยันแตกแขนงระเกะระกะ รากแตกจากโคนต้นและค่อยๆ โค้งจรดดิน ไม่หักเป็นมุมดังเช่นรากค้ำยันของโกงกางใบเล็ก เรือนยอดรูปกรวยคว่ำแคบๆ เปลือกหยาบสีเทาคล้ำจนถึงดำ แตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาวและตามขวางทั่วไป มีลักษณะคล้ายตารางสี่เหลี่ยม เมื่อทุบเปลือกทิ้งไว้สักครู่เปลือกในจะมีสีเหลือง เหลืองอมส้ม จนถึงส้ม
- ใบโกงกางใบใหญ่ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบคู่ล่างๆ จะหลุดร่วงไปเหลือกลุ่มใบที่ปลายกิ่ง ใบรูปรีถึงรีกว้าง กว้าง 5-13 เซนติเมตร ยาว 8-24 เซนติเมตร ปลายมนหรือแหลม มีติ่งแหลมเล็ก แข็ง สีดำ โคนรูปลิ่ม เส้นกลางใบด้านล่างสีเขียว เส้นแขนงใบเห็นไม่ชัด แผ่นใบหนา มีจุดเล็กๆ สีดำกระจัดกระจายทั่วไปทางด้านล่าง ก้านใบยาว 2.5-6 เซนติเมตร สีเขียว หูใบแคบ ปลายแหลมยาว ประกบกันเป็นคู่ระหว่างคู่ใบ เห็นได้ชัดที่ปลายกิ่ง ยาว 5-9 เซนติเมตร สีเขียวหรือชมพูเรื่อๆ ร่วงง่าย
- ดอกโกงกางใบใหญ่ ช่อดอกออกตามง่ามใบที่ใบติดอยู่หรือร่วงไปในเวลาต่อมา ก้านช่อดอกยาว 3-7 เซนติเมตร แตกแขนงสั้นๆ มีดอกตั้งแต่ 2-12 ดอก ก้านดอกยาว 0.4-1 เซนติเมตร ดอกตูมรูปไข่ มีใบประดับรองรับที่ฐานดอก โคนใบประดับติดกัน ปลายแยกเป็น 2 แฉก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง 5-8 มิลลิเมตร ยาว 1.2-1.5 เซนติเมตร ต่อมาปลายกลีบจะโค้งลงเกือบแนบก้านดอก กลีบดอก 4 กลีบ ร่วงง่าย รูปใบหอก ยาว 0.6-1 เซนติเมตร สีขาวหรือเหลืองอ่อน ขอบกลีบมีขนหนาแน่น
- ผลโกงกางใบใหญ่ คล้ายรูปไข่ปลายคอด กว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 3-8 เซนติเมตร สีน้ำตาลอมเขียว ลำต้นใต้ใบเลี้ยงรูปทรงกระบอก เรียว ค่อนข้างตรง ยาว 30-65 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4-1.9 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลมยาว ผิวเป็นมัน สีเขียว มีตุ่มขรุขระทั่วไป
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกต้น
สรรพคุณโกง โกงกางใบใหญ่ :
- เปลือกต้น รสฝาดเค็ม ห้ามโลหิต แก้อาเจียนเป็นโลหิต สมานแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้อติสาร(ลงแดง) แก้คลื่นเหียน อาเจียน ต้มเอาน้ำชะล้างบาดแผลเรื้อรัง ต้มดื่มแก้บิดเรื้อรัง