โคคลาน

โคคลาน

ชื่อสมุนไพร : โคคลาน
ชื่ออื่นๆ :
มะปอบเครือ(เหนือ), กุระเปี้ยะ (ปัตตานี), โพคาน (ชัยนาท), แนวน้ำ (ประจวบคีรีขันธ์), เยี่ยวแมว (ใต้), เยี่ยวแมวเถา (นราธิวาส), มะกายเครือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mallotus repandus (Willd.) Muell. Arg.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นโคคลาน เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือเป็นไม้เถาเลื้อย พาดพันกับต้นไม้ชนิดอื่น มีความสูงหรือยาวประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง เปลือกนอกเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนเนื้อในเป็นสีน้ำตาลอ่อน บริเวณกิ่งก้านและช่อดอกมีขนนุ่มเป็นรูปดาว ลำต้นแก่มีหนามยาว 3-5 นิ้ว
  • ใบโคคลาน  เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ แผ่นใบเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม หรือเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปไข่กว้าง ใบมีความกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ฐานใบเปิดกว้างกลมปิด ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางมีลักษณะคล้ายกระดาษ ส่วนหลังใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสั้นนุ่มสีเหลืองเป็นรูปดาวขึ้นอยู่หนาแน่น ส่วนหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร และก้านใบยาวประมาณ 1.5-1.6 เซนติเมตร สามารถมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน 3 เส้นที่ฐานใบ
  • ดอกโคคลาน ดอกช่อกระจุก ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยหลายดอก สีขาวแกมเหลือง แยกเพศอยู่คนละต้น ช่อดอกเพศผู้ออกที่ปลายยอด ยาว 5-15 เซนติเมตร มักแตกแขนง ใบประดับรูปลิ่มแคบ ขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ดอกเพศผู้ออกรวมเป็นกระจุก 2-5 ดอก ก้านชูดอกย่อยขนาด 2-4 มิลลิเมตร วงกลีบเลี้ยงแยกเป็น 3-4 พู รูปขอบขนาน ขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม เกสรเพศผู้ 40-75 อัน ช่อดอกเพศเมียยาว 5-8 เซนติเมตร ใบประดับรูปหอก ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาว 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 4-5 อัน รูปหอก ขนาด 2-3 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม รังไข่มี 2 ห้อง สีเหลืองเข้ม มีขนนุ่ม ก้านชูยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขนยาวนุ่ม
  • ผลโคคลาน  ลักษณะผลแห้งแตกเป็นแบบแคปซูลมี 2 ห้อง ผลรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตร เป็นสีน้ำตาลเหลืองและมีขนนุ่ม ก้านผลมีความยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร เมื่อผลแก่จะแตกตรงกลางพู ในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกึ่งทรงกลมสีดำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เถา, ราก, ผล, เมล็ด

สรรพคุณ โคคลาน :

  • เถา รสเอียนเบื่อ ปรุงเป็นยารับประทาน แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้เส้นเอ็นตึงแข็ง ปวดหลัง ปวดเอว แก้ไตพิการ ปัสสาวะพิการ บำรุงโลหิต แก้กระษัย
  • ราก รสเอียนเบื่อ แก้ปวดเมื่อย ครั่นตัว แก้เส้นตึง ขับปัสสาวะ บำรุงโลหิต
  • ผล รสขมเมาเบื่อ มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง รักษาคนกินยานอนหลับ พวก Barbiturate เกินขนาด และยังสามารถใช้เบื่อปลา
  • เมล็ด รสขมเมาเบื่อ ทำขี้ผึ้งรักษาโรคผิวหนัง ตามคอและศีรษะ

ข้อมูลเพิ่มเติม :

บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้โคคลาน ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่ ยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก  ปรากฏตำรับ “ยากษัยเส้น” มีส่วนประกอบของโคคลานร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตำรับ “ยาผสมโคคลาน” มีส่วนประกอบของโคคลานร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • เถา และรากใช้ต้มน้ำแล้วใช้ดื่ม แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดกระดูก ปวดข้อ แก้เส้นเอ็นอักเสบตึงปวด บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้กษัย ขับปัสสาวะ อีกตำรับหนึ่งใช้โคคลาน 2 ส่วน ทองพันชั่ง มะตูม โด่ไม่รู้ล้ม อย่างละ 1 ส่วน ใส่น้ำให้ท่วมยาแล้ว นำไปต้มเดือด รินดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา โดยให้อุ่นยากินเรื่อยๆ จนยาจืดจึงเปลี่ยนยาหม้อใหม่ หรือ จะนำเครื่องยาแห้งตำรับนี้มาบดผงใส่แคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม รับประทานก่อนอาหารครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 เวลาก็ได้
  • นอกจากนี้ตามภูมิปัญญาชาวบ้านยังมีการนำเถาโคคลาน ต้นโด่ไม่รู้ล้ม ต้น หรือ ใบทองพันชั่ง มาดองกับเหล้าขาว ใช้ดื่มวันละ 1-2 เป๊ก เพื่อแก้กษัย แก้ปวดเมื่อยกระดูก และเส้นเอ็น บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง ช่วยให้เจริญอาหาร อีกด้วย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโคคลาน

จากการศึกษาวิจัยทางเภสัชพบว่าเมล็ดของโคคลาน มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจ, รวมถึงยังช่วยกระตุ้นสมอง ส่วนสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของโคคลาน มีฤทธิ์ต้านอักเสบ บรรเทาปวด ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของโคคลาน

สำหรับการศึกษาทางพิษวิทยานั้นยังไม่พบข้อมูลความเป็นพิษของโคคลาน แต่มีรายงานการศึกษาในสัตว์ทดลองบางฉบับพบว่าเมื่อใช้ในขนาดสูงมีผลมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจ รวมถึงยังช่วยกระตุ้นสมอง ทำให้สัตว์ทดลองอาเจียน ท้องเสีย ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ และมีอาการชัก เป็นต้น

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้โคคลานเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาโรค ถึงแม้ว่ายังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่าเป็นพิษแต่ในงานวิจัยบางฉบับก็ได้รายงานว่ามีอาการข้างเคียงในสัตว์ทดลอง ดังนั้นการใช้โคคลาน ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ควรใช้ตามปริมาณ และขนาดตามที่ระบุไว้ในตำรับนำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากเกินกว่าที่ระบุ หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

 

Scroll to top