ชื่อสมุนไพร : โคลงเคลง
ชื่ออื่นๆ : กะดูดุ(มลายู-ปัตตานี), กาดูโด๊ะ(มลายู-สตูล, ปัตตานี), โคลงเคลงขี้นก, โคลงเคลงขี้หมา(ตราด), ซิซะโพ๊ะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตะลาเด๊าะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เบร์, มะเหร, มังเคร่, มังเร้, สาเร, สำเร(ภาคใต้), มายะ(ชอง-ตราด), อ้า, อ้าหลวง(ภาคเหนือ)
ชื่อสามัญ : Malabar melastome, melastoma, Indian-rhododendron
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melastoma malabathricum L. subsp. malabathricum
วงศ์ : MELASTOMATACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นโคลงเคลง เป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 1.5-3 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาลแดง กิ่งเป็นเหลี่ยม ทุกส่วนของลำต้นมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม
- ใบโคลงเคลง เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปวงรีแกมใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-2.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนนุ่มละเอียดทั้งสองด้าน เมื่อจับแผ่นใบจะรู้สึกสากมือ ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มมีขนบาง ๆ ส่วนท้องใบสีซีด เส้นใบมี 3 หรือ 5 เส้น แตกออกจากโคนใบไปจรดปลายใบ ก้านใบยาวประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร มีขนปกคลุม
- ดอกโคลงเคลง ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมีขนาดใหญ่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกย่อยประมาณ 3-6 ดอก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร วงกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร สีม่วงแดงและมีขนปุยขึ้นปกคลุม กลีบดอกมีขนาดใหญ่ 5 กลีบ แต่ละกลีบจะไม่ติดกัน กลีบเป็นสีชมพูหรือสีม่วงอมชมพูจนถึงสีม่วงแดงเข้ม ขนาดประมาณ 1.5-2.3 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน แบ่งเป็นขนาดใหญ่ 5 อัน มีก้านสีเหลืองและสีม่วง ส่วนบนโค้ง และขนาดเล็ก 5 อัน สีเหลืองและเหยียดตรง
- ผลโคลงเคลง ผลมีลักษณะคล้ายลูกข่าง มีขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร และมีขนปกคลุม เนื้อในผลเป็นสีแดงอมสีม่วง ผลเมื่อแก่เปลือกผลจะแห้งแล้วแตกออกตามขวาง ผลมีความยาวประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร ภายในเมล็ดมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก หรือผลมีเนื้อนุ่มอยู่หลายเมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ดอก
สรรพคุณ โคลงเคลง :
- ราก เป็นยาดับพิษแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ทุกชนิด บำรุงธาตุ เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ตับ ไตเเละดี
- ดอก เป็นยาระงับประสาทเเละห้ามเลือดในคนที่เป็นริดสีดวงทวาร