ชื่อสมุนไพร : โพธิ์ทะเล
ชื่ออื่น ๆ : ปอทะเล, ปอฝ้าย(ไทย), โพทะเล(นนทบุรี), ปอนาน(ใต้)
ชื่อสามัญ : Coast Cotton Tree, Yellow Mallow Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thespesia populnea (L.) Sol. ex Corrêa
ชื่อวงศ์ : MALVACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นโพธิ์ทะเล เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 4-10 เมตร
- ใบโพธิ์ทะเล ใบเดี่ยว รูปไข่กว้างหรือเกือบกลม ยาว 8-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลมสั้น โคนใบรูปหัวใจ แผ่นใบมีขนค่อนข้างสาก เส้นโคนใบ 7 หรือ 9 เส้น ขอบส่วนมากเรียบ
- ดอกโพธิ์ทะเล ออกเป็นช่อกระจุกสั้น ตามปลายกิ่งหรือซอกใบ มี 1 ดอกหรือหลายดอก ใบประดับคล้ายหูใบ 1 คู่ ติดที่โคนก้านดอก ริ้วประดับ มี 7-10 กลีบ เชื่อมติดกันประมาณกึ่งหนึ่งของความยาว ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงติดทน รูปใบหอก กลีบดอกสีเหลืองมีปื้นสีม่วงเข้มที่โคนด้านใน กลีบรูปไข่กลับ
- ผลโพธิ์ทะเล รูปรีหรือเกือบกลม แข็ง ยาวประมาณ 2 ซม. แตกเป็น 5 ซีก มีขนหยาบแข็งยาวหนาแน่น เมล็ดรูปไต เกลี้ยง
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใยจากเปลือก, ใบ, ดอก, เปลือก, ราก
สรรพคุณ โพธิ์ทะเล :
- ใยจากเปลือก จะมีความเหนียว และคงทนกว่าปอ นำมาทำเชือก และทำกระดาษห่อของ เส้นใยสั้น เมื่อทำแล้วจะได้กระดาษที่มีคุณภาพต่ำ
- ใบ ใช้ทำยาผงใส่แผลสด และแผลเรื้อรัง และใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ
- ดอก ใช้ต้มกับน้ำนมใช้หยอดหูรักษาอาการเจ็บในหู
- เปลือก เป็นยาทำให้อาเจียน ส่วนเมือกที่ได้จากการนำเอาเปลือกสดมาแช่น้ำ ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร
- ราก ใช้รักษาอาการไข้ เป็นยาระบาย และขับปัสสาวะ
ส่วนที่เป็นพิษ : ยางจากต้น เปลือก
การเกิดพิษ : ถ้าเข้าตาทำให้ตาบอดได้ เปลือกมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน