ชื่อสมุนไพร : โลดทะนง
ชื่ออื่นๆ : ข้าวเย็นเนิน, ดู่เบี้ย, ดู่เตี้ย, ทะนง, รักทะนง, ทะนงแดง, นางแซง, โลดทะนงแดง, หนาดคำ, หัวยาข้าวเย็นเนิน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trigonostemon reidioides (Kurz) Craib
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นโลดทะนง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 1 เมตร มีรากเก็บสะสมอาหารพองโต ผิวสีแดงอมม่วง เนื้อสีขาว ลำต้นเรียวเล็ก ขึ้นเป็นกอ ทุกส่วนของต้นมีขน ลำต้นมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น
- ใบโลดทะนง ใบเดี่ยว เรียงสลับ เนื้อใบหนา แผ่นใบรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร โคนใบมน มีต่อมเล็กๆ 2 ต่อม ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม เห็นเส้นใบย่อยเห็นชัด และมีขนนุ่มหนาแน่นบนผิวใบทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร
- ดอกโลดทะนง ช่อดอกแบบกระจะ ดอกสีขาว ชมพู ม่วงเข้มหรือเกือบดำ ออกเป็นช่อตามซอกใบและตามกิ่งก้าน ยาว 7-10 เซนติเมตร ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้มีจำนวนมากกว่าอยู่บริเวณโคนช่อ มีลักษณะตูมกลม ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ก้านดอกมีขน มีกลีบดอก 5 กลีบ ไม่มีขน มีเกสรเพศผู้ 6 อัน ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นแท่งเดียว ดอกเพศเมียตูมรูปไข่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขน จานฐานดอกล้อมรอบฐานของรังไข่ มีรังไข่เหนือวงกลีบ กลีบดอกสีขาว
- ผลโลดทะนง ผลแห้งแตกได้ รูปค่อนข้างกลม มีขนสั้นนุ่มปกคลุมหนาแน่น แบ่งเป็น 3 พูชัดเจน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 มิลลิเมตร มีก้านสีแดง ยาว 3-5 เซนติเมตร เมล็ดรูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่แกมสามเหลี่ยม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก
สรรพคุณ โลดทะนง :
- ราก มีรสร้อน ฝนน้ำกินทำให้อาเจียน เพื่อถอนพิษคนกินยาเบื่อ เมาพิษเห็ดและหอย แก้พิษงู แก้เสมหะเป็นพิษ (เสมหะหรืออุจาระเป็นมูกเลือด) แก้หืด แก้วัณโรค เป็นยาระบาย ฝนเกลื่อนฝี หรือดูดหนองถ้าฝีแตก แก้ฟกช้ำ เคล็ดบวม แก้ปวดฝี คุมกำเนิด ต้มดื่ม แก้วัณโรค ฝนกับน้ำมะนาว หรือสุรา รับประทานแก้พิษงู ฝนทาแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก