ชื่อสมุนไพร : ไพล
ชื่ออื่นๆ : ปูลอย, ปูเลย (ภาคเหนือ), ปูขมิ้น, มิ้นสะล่าง (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน), ว่านไฟ (ภาคกลาง), ว่านปอบ(ภาคอีสาน)
ชื่อสามัญ : Phlai, Cassumunar ginger, Bengal root
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber montanum (Koenig) Link ex Dietr.
ชื่อวงศ์ : Zingiberaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นไพล ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 1 – 1.5 เมตร มีลำต้นใต้ดินลักษณะเป็นเหง้ามีขนาดใหญ่ และเป็นข้อ เปลือกมีสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในหัวสีเหลืองแกมเขียว แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ โดยจะประกอบไปด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกันอยู่ เหง้าไพลสดฉ่ำน้ำ รสฝาด เอียด ร้อนซ่า มีกลิ่นหอมเฉพาะ ส่วนเหง้าไพลแก่สดและแห้งจะมีรสเผ็ดเล็กน้อย
- ใบไพล เป็นใบเดี่ยว ออกใบเรียงสลับระนาบเดียว กว้างประมาณ 3.5-5.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 18-35 เซนติเมตร ลักษณะใบรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน แผ่นใบบาง เนื้อในละเอียดสีเขียว โคนก้านใบแผ่ออกมีหูใบ
- ดอกไพล ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด แทงช่อดอกออกจากเหง้าใต้ดิน รูปเห็ดหรือรูปกระบองโบราณ มีใบประดับสีม่วงซ้อนกันแน่น รูปโค้งห่อรองรับเป็นกาบปิดแน่น และจะขยายเปิดอ้าออกให้เห็นดอกในภายหลัง กลีบดอกมีสีนวล ออกดอกระหว่างกลีบของใบประดับ
- ผลไพล เป็นผลแห้งแตก รูปทรงกลม มีเมล็ดกลมแข็งขนาดเล็กอยู่ภายใน เปลือกเมล็ดสีน้ำตาลแกมเหลือง
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เหง้าแก่จัด เก็บหลังจากต้นไพลลงหัวแล้ว
สรรพคุณ ไพล :
- เหง้า เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้บิด ท้องเดิน ขับประจำเดือนสตรี ทาแก้ฟกบวม แก้ผื่นคัน เป็นยารักษาหืด เป็นยากันเล็บถอด ใช้ต้มน้ำอาบหลังคลอด
- น้ำคั้นจากเหง้า รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกบวม แพลงช้ำเมื่อย
- หัว ช่วยขับระดู ประจำเดือนสตรี เลือดร้าย แก้มุตกิตระดูขาว แก้อาเจียน แก้ปวดฟัน
- ดอก รสขื่น ขับระดู ขับโลหิตกระจายเลือดเสีย แก้ชำใน
- ต้น แก้ธาตุพิการ แก้อุจาระพิการ
- ใบ รสขื่นเอียน แก้ไข้ ปวดเมื่อย แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้เมื่อย
- ลำต้นเหนือดิน รสฝาดขื่นเอียน แก้ธาตุพิการ แก้อุจจาระพิการ
- เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน รสฝาดขื่นเอียน เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ สมานลำไส้ แก้สารพิษในท้อง แก้โรคหืด ขับลมในลำไส้ แก้ท้องเดิน ใช้เป็นยาช่วยขับระดูประจำเดือนสตรีหลังคลอดบุตร ลดอาการอักเสบและบวม แก้ท้องเสีย แก้ปวดฟัน แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้เด็กเป็นไข้สูงตัวสั่นตาเหลือก ขับเลือดร้าย แก้บิด, ใช้เหง้าสดที่แก่จัดเป็นยาใช้ภายนอก ฝนทาแก้เหน็บชา เมื่อยขบ แก้เคล็ดขัดยอก ฟกบวม, ใช้ขี้ผึ้งผสมน้ำมันไพล ทาแก้อาการเคล็ดขัดยอก หรือใช้น้ำมันไพลผสมแอลกอฮอล์ทากันยุง แก้โรคผิวหนัง แก้ฝี ทาเคลือบแผล ป้องกันการติดเชื้อ ดูดหนอง สมานแผล
- ราก รสขื่นเอียน แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้เลือดกำเดาออกทางปากทางจมูก
[su_spoiler title=”วิธีและปริมาณที่ใช้ : แก้ท้องขึ้น ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม” icon=”arrow”]แก้ท้องขึ้น ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม ใช้เหง้าแห้งบดเป็นผง รับประทานครั้งละ ½ ถึง 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่ม[/su_spoiler]
[su_spoiler title=”วิธีและปริมาณที่ใช้ : รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง” icon=”arrow”]รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง ใช้หัวไพลฝนทาแก้ฟกบวม เคล็ด ขัด ยอก ใช้เหง้าไพล ประมาณ 1 เหง้า ตำแล้วคั้นเอาน้ำทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียด ผสมเกลือเล็กน้อยคลุกเคล้า แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ อังไอน้ำให้ความร้อน ประคบบริเวณปวดเมื่อยและบวมฟกช้ำ เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย หรือทำเป็นน้ำมันไพลไว้ใช้ก็ได้ โดยเอาไพล หนัก 2 กิโลกรัม ทอดในน้ำมันพืชร้อนๆ 1 กิโลกรัม ทอดจนเหลืองแล้วเอาไพลออก ใส่กานพลูผงประมาณ 4 ช้อนชา ทอดต่อไปด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 10 นาที กรองแล้วรอจนน้ำมันอุ่นๆ ใส่การบูรลงไป 4 ช้อนชา ใส่ภาชนะปิดฝามิดชิด รอจนเย็น จึงเขย่าการบูรให้ละลาย น้ำมันไพลนี้ใช้ทาถูนวดวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลาปวด (สูตรนี้เป็นของ นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา)[/su_spoiler]
[su_spoiler title=”วิธีและปริมาณที่ใช้ : แก้บิด ท้องเสีย” icon=”arrow”]แก้บิด ท้องเสีย ใช้เหง้าไพลสด 4-5 แว่น ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำเติมเกลือครึ่งช้อนชา ใช้รับประทาน หรือฝนกับน้ำปูนใส รับประทาน[/su_spoiler]
[su_spoiler title=”วิธีและปริมาณที่ใช้ : เป็นยารักษาหืด” icon=”arrow”]เป็นยารักษาหืด ใช้เหง้าไพลแห้ง 5 ส่วน พริกไทย ดีปลี อย่างละ 2 ส่วน กานพลู พิมเสน อย่างละ ½ ส่วน บดผสมรวมกัน ใช้ผงยา 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนรับประทาน หรือปั้นเป็นลูกกลอนด้วยน้ำผึ้ง ขนาดเท่าเม็ดพุทรา รับประทานครั้งละ 2 ลูก ต้องรับประทานติดต่อกันเวลานาน จนกว่าอาการจะดีขึ้น[/su_spoiler]
[su_spoiler title=”วิธีและปริมาณที่ใช้ : เป็นยาแก้เล็บถอด” icon=”arrow”]เป็นยาแก้เล็บถอด ใช้เหง้าไพลสด 1 แง่ง ขนาดเท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเกลือและการบูร อย่างละประมาณครึ่งช้อนชา แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นหนอง ควรเปลี่ยนยาวันละครั้ง[/su_spoiler]
[su_spoiler title=”วิธีและปริมาณที่ใช้ : ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื่น และเป็นยาช่วยสมานแผล” icon=”arrow”]ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื่น และเป็นยาช่วยสมานแผลด้วย ใช้เหง้าสด 1 แง่ง ฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นๆ เนื่องจากไพลมี่น้ำมันหอมระเหย[/su_spoiler]