งูเห่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Naja naja kaouthia Lesson
ชื่อสามัญว่า Thai cobra หรือ common cobra หรือ Siamwse cobra
จัดอยู่ในวงศ์ Elapidae
เป็นสัตว์วัตถุที่นำมาใช้ทำยา อยู่ในกลุ่ม “สัตว์บก” คือ สัตว์ที่อาศัยอยู่บนบก และหากินบนบก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : คราบ, กระดูก, ดี, น้ำมัน
สรรพคุณ งูเห่า :
-
สรรพคุณ แก้โรคกระษัย ปวดเมื่อย แน่น เสียด บำรุงกำลัง (ก่อนปรุง ต้องย่างไฟเสียก่อน)
แพทย์แผนไทยรู้จักใช้คราบงูเห่า กระดูกงูเห่า ดีงูเห่า และน้ำมันงูเห่า นอกจากนั้นแพทย์ตามชนบทยังใช้งูเห่าทั้งตัวย่างไฟจนแห้งกรอบ ดองเหล้ากินแก้ปวดเมื่อย แก้ปวดหลัง และแก้ผอมแห้งแรงน้อยในสตรีหลังคลอดบุตร และใช้หัวงูเห่าสุมไฟให้เป็นถ่าน ปรุงเป็นยาแก้ชาชักในเด็ก ลดความอ้วน ว่ามีรสเย็นและเมา
- คราบงูเห่า เป็นคราบที่งูเห่าลอกทิ้งไว้ ในพระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ให้ยาขนานหนึ่งที่เข้า “คราบงูเห่า” เป็นเครื่องยาด้วย ดังนี้
*ภาคหนึ่งยาทาตัวกุมาร กันสรรพโรคทั้งปวง แลจะเป็นไข้อภิฆาฎก็ดี โอปักกะมิกาพาธก็ดี ท่าน ให้เอาใบ มะขวิด คราบงูเห่า หอมแดง สาบแร้งสาบกา ขนเม่น ไพลดำ ไพลเหลือง บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำนมโค ทาตัวกุมาร ชำระมลทินโทษทั้งปวงดีนัก - กระดูกงูเห่า มีรสเมา ร้อน แก้พิษเลือดลม แก้จุกเสียด แก้ษนัย แก้ปวดเมื่อย แก้ชางตานขโมย และปรุงเป็นยาแก้แผลเนื้อร้ายต่างๆ ในพระคัมภีร์จินดาร์ให้ยาอีกขนานหนึ่งเข้า “กระดูกงูเห่า” เป็นเครื่องยาด้วย ดังนี้
*ยาทาท้องแก้ท้องขึ้น ขนานนี้ท่านให้เอา ใบหนาด ๑ ใบคนทีสอ ๑ ใบประคำไก่ ๑ ใบผักเค็ด ๑ ใบผักเสี้ยนผี ๑ เมล็ดในมะนาว ๑ เมล็ดในสะบ้ามอญ ๑ มดยอบ ๑ กำยานผี ๑ ตรีกฎุก ๑ สารส้ม ๑ ดินประสิวขาว ๑ น้ำประสานทอง ๑ กระชาย ๑ กระทือ ๑ ไพล ๑ หอม ๑ กระเทียม ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ กระดูกงูเหลือม ๑ กระดูกงูเห่า ๑ กระดูกห่าน ๑ กระดูกเลียงผา ๑ มหาหิงคุ์ ๑ ยาดำ ๑ รงทอง ๑ รวมยา ๒๘ สิ่งนี้ ทำเปนจุณ บดทำแท่ง ละลายน้ำมะกรูดทาท้อง แก้ท้องรุ้งพุงมาร แก้มารกระไษยลม แก้ไส้พองเอาเสมอภาค ท้องใหญ่ ท้องขึ้นท้องเขียว อุจจาระปัสสาวะมิออก ลมทักขิณคุณ ลมประวาตคุณ หายสิ้น - ดีงูเห่า มีรสขม ร้อน ผสมยาหยอดตาแก้ตาฝ้า ตาฟาง ตาแฉะ ตาต้อ และบดเป็นกระสายยาช่วยให้ฤทธิ์ยาแล่นเร็ว ในพระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ ให้ยาขนานหนึ่งเข้า “ดีงูเห่า” เป็นเครื่องยาด้วย ดังนี้
*ยาชื่ออินทรบรรจบคู่กัน ขนานนี้ท่านให้เอา ชะมด ๑ พิมเสน ๑ จันทน์ทั้งสอง ๑ กฤษณา ๑ กระลำพัก ๑ ขอนดอก ๑ ว่านกลีบแรด ๑ ว่านร่อนทอง ๑ ผลมะขามป้อม ๑ ยาดำ ๑ มหาหิงคุ์ ๑ กระเทียม ๑ ดีงูเหลือม ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง เทียนดำ ๑ เทียนขาว ๑ เทียนแดง ๑ เทียนเยาวภานี ๑ เทียนสัตตบุษย์ ๑ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กานพลู ๑ กระวาน ๑ เอาสิ่งละ ๒ สลึง รวมยา ๒๓ สิ่งนี้ ทำเปนจุณ แล้วจึงเอา ดีงูเห่า ๑ ดีจระเข้ ๑ ดีตะพาบน้ำ ๑ ดีปลาช่อน ๑ ดีปลาไหล ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง แช่เอาน้ำเปนกระสาย บดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำดอกไม้กิน แก้อับจน ถ้ามิฟัง ละลายสุรากินแก้สรรพตาลทรางทั้งปวง แลแก้ชักเท้ากำมือกำ หายดีนัก - น้ำมันงูเห่า เตรียมได้โดยการเอาเปลวมันในตัวงูเห่าใส่ขวด ตากแดดจัดๆ จนเปลวมันละลาย ใส่เกลือไว้ก้นขวดเล็กน้อยเพื่อกันเหม็นเน่า ในตำราพระโอสถ พระนารายณ์มียาขี้ผึ้งขนานหนึ่งว่า “น้ำมันงูเห่า” เป็นเครื่องยาด้วย ดังนี้
*สีผึ้งบี้พระเส้น ให้เอาชะมดทั้ง ๒ ไพล พิมเสน โกฏเชียง กรุงเขมา ดีงูเหลือม จันทน์ทั้ง ๒ กฤษณา กระลำพัก สิ่งละเฟื้อง โกฏสอ โกฏเขมา โกฏจุลาลำภา โกฏกัตรา โกฏสิงคี โกฏหัวบัว มัชะกิยวาณี กระวาน กานพลู ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ เทียนดำ เทียนขาว พริกหอม พริกหาง พริกล่อน ดีปลี ลูกกราย ฝิ่น สีผึ้ง สิ่งละ สลึง กระเทียม หอมแดง ขมิ้นอ้อย ๒ สลึง ทำเป็นจุณ ละลายน้ำมะนาว ๑๐ ใบ น้ำมันงาทนาน ๑ น้ำมันหมูหลิ่ง น้ำมันเสือ น้ำมันจระเข้ น้ำมันงูเห่า น้ำมันงูเหลือม พอควร หุงให้คงแต่น้ำมัน จึงเอาชันรำโรง ชันย้อย ชันระนัง ใส่ลงพอควร กวนไปดีแล้วจึงเอาทาแพรทาผ้าถวาย ทรงปิดไว้ ที่พระเส้นอันแข็งนั้นหย่อน