ชื่อสมุนไพร : มันแกว
ชื่ออื่นๆ : หมากบ้ง (เพชรบูรณ์), เครือเขาขน, ถั่วกินหัว, ถั่วหัว, ถั้วบ้ง, ละแวก, มันละแวก, มันแกวละแวก, มันลาว, มันแกวลาว (ภาคเหนือ), มันเพา, มันเภา (ภาคอีสาน), มันแกว (ภาคกลาง), หัวแปะกัวะ (ภาคใต้), มะคะตุ๋ม (ไทลื้อ)
ชื่อสามัญ : Yam bean, Jicama
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pachyrhizus erosus (L.) Urb.
ชื่อวงศ์ : FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นมันแกว เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโกและประเทศในแถบอเมริกากลาง โดยจัดเป็นพืชในตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง ลำต้นมีขน เป็นไม้เถาเลื้อยพันต้นไม้อื่น แต่ไม่มีมือเกาะ ลำต้นอาจยาวได้ถึง 5.5 เมตร ต้นไม่แตกแขนง โคนต้นเนื้อแข็ง มีหัวใต้ดินเป็นรากสะสมอาหาร หัวมีลักษณะอวบและมีขนาดใหญ่
- ใบมันแกว ใบเป็นประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ แตกจากก้านใบ เรียงสลับ ก้านใบยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลักษะของใบย่อยเป็นรูปจักใหญ่หรือเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบแหลม โคนใบป้านมนเข้าหาเส้นกลางใบ แผ่นใบเรียบแต่สากมือ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร
- ดอกมันแกว ออกดอกเป็นช่อกระจะออกเดี่ยว ๆ ที่ซอกใบ มีขนสีน้ำตาล ช่อดอกยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปดอกถั่วหรือรูปไต กลีบดอกเป็นสีม่วงแกมน้ำเงิน สีชมพู หรือสีขาว เมื่อดอกบานจะมีรูปร่างคล้ายดอกแค แต่มีขนาดเล็กกว่าและยาวประมาณ 2 เซนติเมตร
- ผลมันแกว ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน แบน และมีขนปกคลุมทั่วทั้งฝัก ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ฝักเมื่อแก่จะเรียบ ทั้งฝักมีเมล็ดเรียงกันอยู่ภายในประมาณ 4-10 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปจัตุรัสแบน เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงเข็มหรือสีแดง ผิวมัน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัว, ใบ, เมล็ด
สรรพคุณ มันแกว :
- หัว ช่วยทำให้เกิดน้ำหล่อเลี้ยง แก้กระหายน้ำ ร้อนกระสับกระส่าย ช่วยลดไข้ ดับพิษร้อนภายใน แก้อาการปวดศีรษะ หน้าแดง แก้ความดันโลหิตสูง เป็นยารักษาพิษสุราเรื้อรัง
- ใบ เป็นยาถ่ายพยาธิ รักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน
- เมล็ด ใช้เมล็ดแก่นำมาป่น หรือบด ใช้ทาผิวหนังเป็นยารักษาโรคผิวหนัง กัดหูด
ส่วนที่เป็นพิษ : มันแกวเป็นพืชที่มีหัวใต้ดินซึ่งรับประทานได้ แต่บางส่วนของมันแกวก็เป็นพิษได้เช่นกัน เช่น ใบและเมล็ดของมันแกวนั้นเป็นพิษ
สารพิษ : ฝักอ่อนของมันแกวสามารถรับประทานได้ แต่เมื่อแก่จะเป็นพิษ โดยเฉพาะที่เมล็ดของมันแกวนั้น มีสารที่มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง หลายชนิด ได้แก่ pachyrrhizin, pachyrrhizone, 12-(A)-hydroxypachyrrhizone, dehydropachyrrhizone, dolineone, erosenone, erosin, erosone , neodehydrorautenone, 12 -(A)-hydroxy lineonone, 12-(A)-hydroxymundu- serone (8), rotenone (9) นอกจากนี้ยังมีสารซาโปนิน ได้แก่ pachysaponins A และ B ซึ่งละลายน้ำได้ และเป็นพิษต่อปลาทำให้ปลาตาย ส่วนใบของมันแกวนั้นมีสารพิษคือ pachyrrhizid ซึ่งมีพิษต่อโคและกระบือมากกว่าม้า
การเกิดพิษ มันแกว :
ใบ และเมล็ด เมื่อศึกษาพิษของ rotenone พบว่า ถ้ารับประทาน rotenone เข้าไป จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน การหายใจเข้าไปพิษจะรุนแรงกว่า โดยไปกระตุ้นระบบการหายใจ ตามด้วยการกดการหายใจ ชัก และอาจถึงชีวิตได้ มีรายงานว่าถ้ารับประทานเมล็ดมันแกวเพียงครึ่งเมล็ดจะเป็นยาระบาย และบางแห่งใช้เป็นยาขับพยาธิ ดังนั้นจึงควรระมัดระวัง นอกจากนี้อาจเกิดอาการพิษเรื้อรัง โดยทำให้ไขมันในตับและไตเปลี่ยนแปลง ส่วนพิษของสารซาโปนิน จะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารเช่นกัน คือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีปัญหาในระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้ ระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติและทำให้ชักได้
การรักษา :
ล้างท้อง ให้รับประทานพวก demulcents เช่น นมและไข่ขาว ระวังการเสีย น้ำและ electrolyte balance ถ้าสูญเสียมากต้องให้น้ำเกลือ ทางเส้นเลือด