ชื่อสมุนไพร : ท้อ
ชื่ออื่น ๆ : หุงหม่น, หุงคอบ(เชียงใหม่), มักม่วน, มักม่น(ภาคเหนือ), มะฟุ้ง(ชาน)
ชื่อสามัญ : Nectarine, peach
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prunus persica Batsch.
วงศ์ : ROSACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นท้อ เป็นพรรณไม้ผลัดใบ มีขนาดสูงประมาณ 8 เมตร ลักษณะลำต้นและกิ่งอ่อนจะมีผิวเปลือกเกลี้ยงไม่มีขน เป็นสีน้ำตาลแดง หรือสีเขียวอ่อน
- ใบท้อ มีลักษณะเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลมเรียว ริมขอบใบจักตื้นเล็กน้อย ขนาดของใบกว้างประมาณ 1-1.2 นิ้ว ยาวประมาณ 3-6 นิ้ว และความยาวของก้านใบประมาณ 7-12 มม.
- ดอกท้อ ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวตามบริเวณกิ่ง ลักษณะของดอกมีกลีบเป็นสีชมพูอ่อน ดอกหนึ่ง มี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปมนรีที่โคนดอกมีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกออกเป็น 5 แฉก มีสีแดง ผิวนอกกลีบมีขน ตรงกลางดอกมีเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมีย เป็นเส้นฝอยจำนวนมาก ขนาดของดอกเมื่อบานเต็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 นิ้ว
- ผลท้อ ผลมีลักษณะเป็นรูปมนรี ปลายแหลม เปลือกนอกของผลมีสีเขียวออกเหลือง ๆ และมีขนสั้น ๆ นิ่มปกคลุม ภายในผลมีเมล็ด อยู่ 1 เม็ด มีลักษณะเป็นรูปมนรี คล้าย ๆ กับรูปหัวใจ เปลือกเมล็ดแข็ง มีร่องลึก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ ดอก ก้านอ่อน ผลสุก เมล็ด เปลือกราก ราก และยางจากลำต้น
สรรพคุณ ท้อ :
- ราก เปลือกรากหรือต้น จะมีรสขม ใช้รักษาโรคดีซ่านและตาเหลือง รักษาเยื่อหุ้มกระดูกอักเสบ รักษาประจำเดือนไม่ปรกติ ปวดข้อแผลบวม อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด เป็นแผลมีหนองเรื้อรัง และโรคริดสีดวงทวาร
- ใบ จะมีรสขม ใช้รักษาอาการปวดหัวจากลมร้อน ตาบวม กลากตามบริเวณหน้าและตัว รักษาโรคริดสีดวงทวาร รักษาโรคอหิวาตกโรค ปวดท้อง อาเจียน ปัสสาวะขัดหรือท้องผูก อาการไข้ โรคมาลาเรีย โรคผิวหนังเรื้อรังมีหนอง เป็นผื่นคันน้ำเหลือง
- ดอก มีรสขม ใช้รักษาอาการท้องผูก บรรเทาอาการปวดเอวและสะโพก โรคกระเพาะปัสสาวะ ขาบวมน้ำ ปวดเอว และไตมีน้ำคั่ง รักษาอาการปวดแน่นหน้าอกตามบริเวณหัวใจ เป็นแผลผื่นคันที่ขา เป็นโรคพรรดึก
- ก้านอ่อน จะมีรสขม ใช้รักษาอาการปวดตามบริเวณหน้าอก และหัวใจ รักษาแผลในช่องปาก
- ผลสุก จะมีรสเปรี้ยว ชุ่ม ช่วยกระตุ้นน้ำลาย ขับสิ่งคั่งค้าง และช่วยหล่อลื่นในลำไส้
- เมล็ด จะมีรสขมและชุ่ม ใช้เป็นยารักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปรกติหลังคลอด ขับน้ำคาวปลาหลังคลอด
- ยางจากต้น จะมีรสขมชุ่ม เป็นยารักษานิ่ว ปวดเจ็บ เป็นโรคบิดถ่ายเป็นมูกเลือดหลังคลอด โรคเบาหวาน