ชื่อสมุนไพร : เถาวัลย์เปรียง
ชื่ออื่น ๆ : เถาวัลย์เปรียงขาว เถาวัลย์เปรียงแดง (ภาคกลาง) , เครือตาปลา , เครือไหล (เชียงใหม่) , เครือตับปลา (เลย) , เถาตาปลา , เครือเขาหนัง , ย่านเหมาะ (นครราชสีมา) , พานไสน (ชุมพร) , เครือตาป่า , เครือตาปลาโคก , เครือตาปลาน้ำ (ภาคอีสาน) ย่านเหมาะ ,ย่านเบราะ (ภาคใต้)
ชื่อสามัญ : Jewel Vine
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Derris scandens Benth.
ชื่อวงศ์ : PAPILIONEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นเถาวัลย์เปรียง เป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 20 เมตร มีกิ่งเหนียวและทนทาน กิ่งแตกเถายืดยาวอย่างรวดเร็ว เถามักเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ เถาแก่มีเนื้อไม้แข็ง เปลือกเถาเรียบและเหนียว เป็นสีน้ำตาลเข้มอมสีดำหรือแดง เถาใหญ่มักจะบิด เนื้อไม้เป็นสีออกน้ำตาลอ่อน ๆ มีวงเป็นสีน้ำตาลไหม้
- ใบเถาวัลย์เปรียง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อย 4-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบเป็นรูปหอก โคนใบมน ขอบใบเรียบ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ท้องใบเรียบ
- ดอกเถาวัลย์เปรียง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ช่อดอกเป็นสีขาวห้อยลง ดอกเป็นสีขาวอมสีม่วงอ่อนคล้ายกับดอกถั่ว กลีบดอกมี 4 กลีบ และมีขนาดไม่เท่ากัน สวนกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วย สีม่วงแดง
- เมล็ดเถาวัลย์เปรียง (ผล) เป็นฝักแบน โคนฝักและปลายฝักมน ฝักเมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอ่อน ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1-4 เมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เถา, และราก
สรรพคุณ เถาวัลย์เปรียง :
- เถา ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้หวัด ใช้เถาคั่วไฟให้หอมชงน้ำกินแก้ปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้เมื่อยขบในร่างกาย แก้กระษัยเหน็บชา ถ่ายเส้น ถ่ายกระษัย แก้เส้นเอ็นขอด ถ่ายเสมหะ ไม่ถ่ายอุจจาระ เหมาะที่จะใช้ในโรคบิด ไอ หวัด ใช้ในเด็กได้ดี แก้ปวด แก้ไข้ ทำให้เส้นเอ็นอ่อนลง ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ บางตำรากล่าวว่าทำให้มีกำลังดีแข็งแรงสู้ไม่ถอย
- ราก จะมีสารพวก flavonol ที่มีชื่อว่า scadenin, nallanin ใช้เป็นยาเบื่อปลา แต่ไม่มีคุณสมบัติในการใช้เป็นยาฆ่าแมลง ในตำรับยาไทยนั้นเขาใช้เป็นยารักษาอาการไข้ เป็นยาอายุวัฒนะ และขับปัสสาวะ