ชื่อสมุนไพร : ถั่วพู
ชื่ออื่น ๆ : ถั่วปู (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), ถั่วพู (ภาคใต้)
ชื่อสามัญ : Asparagus pea, Goa bean, Manila pea, Princess bean, Winged bean
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psophocarpus tetragonolobus (L.) DC.
ชื่อวงศ์ : FABACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นถั่วพู เป็นพรรณไม้เลื้อยจำพวกถั่ว ไม้เลื้อย ไม่มีเนื้อไม้อายุหลายปี ลำต้นเลื้อยพัน
- ใบถั่วพู ใบเรียงสลับ เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมี 3 ใบ โคนใบกลมและเบี้ยว ส่วนปลายใบแหลม มีรูปร่างหลายแบบ เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปไข่ และรูปใบหอก
- ดอกถั่วพู ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบเป็นแบบช่อกระจะ ในช่อหนึ่งๆ จะมีดอกอยู่ประมาณ 3-12 ดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันลักษณะคล้ายรูประฆัง ปลายเป็น 5 กลีบ กลีบเป็นซี่สั้นๆ กลีบดอกมีสีระหว่างขาวและสีม่วงแดง สีน้ำเงิน สีแดง ดอกมีเกสรตัวผู้อยู่ 10 อัน แบ่งเป็น 2 มัด มัดหนึ่งมี 9 อัน ส่วนอีกมัดมี 1 อัน
- ผลถั่วพู เป็นรูปขอบขนานถึงรูปแถบ มีหน้าตัดเป็นรูปสีเหลี่ยม และแต่ละมุมของฝักจะมีปีกตามยาว ปีกมีลักษณะเป็นหยักแบบจักคล้ายฟันเลื่อย มีสีเขียว มีรูปร่างเป็นฝักสีเหลี่ยมมีปีก 4 ปีก เมื่อตัดตามขวางจะแบ่งได้เป็น 4 แบบคือ rectangular, semi flat, flat on sides และ flat on suture ฝักมีความประมาณ 11.2-29.9 เซนติเมตร สีของฝักมีทั้งสีเขียว สีม่วง และสีเหลือง ส่วนผิวของผักจะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบผิวเรียบและแบบผิวหยาบมาก ในฝักถั่วพูจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 8-20 เมล็ด
- เมล็ดถั่วพู ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกึ่งทรงกลม เมล็ดมีตั้งแต่สีขาว สีเหลือง สีครีม สีน้ำตาล สีดำ และแบบที่เป็นลวดลายต่างๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วเมล็ดจะมีสีน้ำตาล และขนาดของเมล็ดยังมีขนาดต่างๆ กัน โดยมีน้ำหนัก 100 เมล็ด อยู่ในช่วง 11-4.6 กรัม
- รากถั่วพู จะออกเป็นหัว เป็นปมอยู่ใต้ดิน มีการแตกปม ปมนั้นเป็นที่อยู่ของแบคทีเรีย แต่ละปม จะมีขนาดใหญ่ จะแตกปมได้ทุกสภาพ โดยไม่ต้องฉีดเชื้อเข้าไป ถั่วพูแต่ละต้นนั้นจะมีปม ถึง 600 ปม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัวถั่วพู, ฝักถั่วพู, ใบและยอดอ่อน, เมล็ดแก่, ราก
สรรพคุณ ถั่วพู :
- หัว นำมาตากแห้ง แล้วหั่นนำไปคั่วไฟให้เหลือง ใช้ชงน้ำกินเป็นยาชูกำลังของคนป่วยหนัก และอาการอ่อนเพลียได้
- ฝัก สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้เป็นอย่างดี
- ใบและยอดอ่อน ใช้แทนเป็นฝักได้ ประกอบด้วยสารอาหารโปรตีนสูง
- เมล็ดแก่ จะมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับถั่วเหลือง และยังประกอบด้วยสารเริ่มต้น วิตามิน A หรือ โทโคเฟอรัลในปริมาณสูง สารนี้จะมีรสหวานและไม่สลายง่าย ช่วยในการย่อยกรดไขมันอิ่มตัว และช่วยเสริมวิตามิน A ให้กับร่างกายด้วย
- ราก ใช้รักษาโรคเพื่อวาโยธาตุกำเริบ รักษาดีพลุ่งพล่าน กระทำให้ตาแดง ให้คลั่งเพ้อ ให้ปวดมวนท้อง โดยมีส่วนผสม พริกไทย จันทร์ทั้ง 2 กฤษณาเสมอภาค รากถั่วพูเท่ายา น้ำมะนาว น้ำกระทือ น้ำอ้อย คุลีกาละลาย กินแล้วจะหาย