ชื่อสมุนไพร : จมูกปลาหลด
ชื่ออื่น ๆ : สะอึก( กลาง ), ตะมูกปลาไหล(นครราชสีมา), จมูกปลาไหลดง(เพชรบูรณ์), ผักไหม(เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oxystelma esculentum ( L.) R.BR.
ชื่อวงศ์ : ASCLEPIADACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นจมูกปลาหลด เป็นพรรณไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง มีเถาที่เล็กและมียางสีขาวอยู่ในเถา ไม่มีขน
- ใบจมูกปลาหลด เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวแคบหรือเป็นรูปดาบเรียวแคบ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เนื้อใบบางเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียว เส้นใบโค้งจรดกันใกล้ๆ ขอบใบ ก้านใบสั้นและเล็ก ยาวได้ประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร
- ดอกจมูกปลาหลด ออกดอกเดี่ยวหรือบางทีออกดอกเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบ ช่อละประมาณ 2-3 ดอก บางครั้งช่อใหญ่อาจมีดอกถึง 6-9 ดอก ดอกหนึ่งมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ปลายกลีบแหลม ส่วนกลีบดอกโคนติดกัน ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ดูคล้ายรูปดาว กลีบดอกมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ริมขอบกลีบดอกมีขน ด้านนอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมชมพู ส่วนด้านในเป็นสีชมพูมีลายเส้นสีม่วงเข้มและจุดประสีน้ำตาลอยู่ตอนโคนกลีบที่ติดกัน ตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้มีอับเรณูติดกันเป็นคู่จำนวน 5 คู่ ฝังอยู่ ปลายเส้าเกสรเป็นรูปห้าเหลี่ยมหุ้มเกสรเพศเมีย รังไข่มี 2 ส่วน ปลายติดกัน เมื่อดอกบานจะมีลักษณะคล้ายรูปจานและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 1-2 เซนติเมตร
- ผลจมูกปลาหลด มีลักษณะเป็นฝัก ปลายฝักแหลมโค้งเรียว โคนฝักกว้าง เปลือกนิ่ม ภายในพองลม ผลโตมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7.5 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะแตกออกด้านเดียวและจะเห็นเมล็ดติดอยู่กับไส้กลางผลเป็นจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่สีน้ำตาล ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ที่ปลายของเมล็ดมีขนสีขาวติดอยู่เป็นกระจุก กระจุกขนยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ช่วยทำให้สามารถลอยไปตามลมเพื่อกระจายพันธุ์ไปได้ไกลๆ
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ยางจากต้น, ราก, เถา
สรรพคุณ จมูกปลาหลด :
- ยางจากต้นจมูกปลาหลด เป็นยางที่มีสารบางอย่าง โดยเราจะนำมาชำระล้างแผลที่เป็นหนองได้
- รากจมูกปลาหลด ใช้รักษาโรคดีซ่าน
- เถาจมูกปลาหลด เด็ดเอาสำเถานี้นมาต้มกับน้ำ แล้วรับประทานแก้เจ็บคอ กลั้วคอ