ชื่อสมุนไพร : งิ้วป่า
ชื่ออื่นๆ : เก๊ย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ไก๊ (กะเหรี่ยง-ภาคเหนือ), ไกร่ (เชียงใหม่), ง้าว, ง้าวป่า (ภาคกลาง), งิ้วดอกขาว (ภาคเหนือ), งิ้วป่าดอกขาว, งิ้วผา (ภาคเหนือ), นุ่นป่า (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bombax anceps Pierre var. anceps
ชื่อวงศ์ : Bombaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นงิ้วป่า เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ผลัดใบ สูง 15-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง มีหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน มักมีพูพอนต่ำๆ เปลือกเรียบ สีเทาอมเขียว เรือนยอดโปรง แผ่กว้าง กิ่งเกือบตั้งฉากกับลำต้น กิ่งอ่อนจะมีรอยแผลใบปรากฏอยู่
- ใบงิ้วป่า เป็นช่อ ติดเรียงเวียนกันเป็นกลุ่มตามปลายๆ กิ่ง ช่อหนึ่งๆ มีใบย่อยที่ออกจากจุดเดียวกันแผ่ออกเป็นวงกลม 5-7 ใบ แต่ละใบกว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 15-30 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบ ปลายใบเรียวแหลมเนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง ก้านใบย่อยยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ก้านช่อใบยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เกลี้ยง โคนก้านจะบวมพองขึ้นเล็กน้อย
- ดอกงิ้วป่า โต สีขาว กลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่มเหนือรอยแผลใบตามปลายๆ กิ่ง แต่ละกระจุกมี 3-5 ดอก โคนกลีบฐานดอกติดกันเป็นรูปถ้วยแข็งๆ ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีขนเป็นมันทางด้านนอก ขอบถ้วยหยักเป็นแฉก 3-4 แฉก แต่ละแฉกมีรูปและขนาดแตกต่างกัน กลีบดอกมี 5 กลีบ ทรงกลีบรูปขอบขนาน ยาว 5-8 เซนติเมตร เมื่อบานเต็มที่ปลายกลีบจะแผ่ออกแล้วม้วนกลับมาทางขั้วดอก เผยให้เห็นเกสรผู้จำนวนมากมาย โคนก้านเกสรผู้จะติดกันเป็นกลุ่ม และติดอยู่กับฐานโคนกลีบดอกด้านใน รังไข่ รูปรีๆ ภายในมีไข่อ่อนมาก หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียวจะยาวยื่นพ้นกลุ่มเกสรผู้ขึ้นมา
- ผลงิ้วป่า รูปทรงกระบอก ยาว 10-15 เซนติเมตร โตวัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ผิวแข็ง ผลแก่จัดจะแตกอ้าตามรอยประสาน เมล็ดเล็ก รูปทรงกลม สีดำ มีจำนวนมาก ห่อหุ้มอยู่ด้วยปุยฝ้ายสีขาว
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เปลือกต้น, ราก, ยาง, ดอก, ผล
สรรพคุณ งิ้วป่า :
- ใบ รสเย็น ตำพอกแก้ฟกช้ำ บดผสมน้ำ ทาแก้ต่อมทอมซิลอักเสบ
- เปลือกต้น รสฝาดเย็น แก้ท้องเสีย แก้บิด
- ราก รสจืด ขับปัสสาวะ เป็นยากระตุ้น และยาบำรุง
- รากและเปลือก รสฝาดเย็น ทำให้อาเจียน
- ยาง รสเย็นเมา กระตุ้นความต้องการทางเพศ ห้ามเลือดที่ตกภายใน ขับน้ำเหลืองเสีย บำรุงกำลัง แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ระดูมามากเกินไป
- ดอกแห้ง รสหวานเย็น รักษาแผลน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ แก้ปวด แก้คัน แก้พิษไข้
- ดอกและผล รสหวานเย็น แก้พิษงู
ข้อมูลเพิ่มเติม :
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้ท้องเสีย แก้บิด โดยใช้เปลือกต้นงิ้วป่าดอกขาว มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้บำรุงกำลัง ช่วยขับปัสสาวะ ทำให้อาเจียน โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้พิษไข้ แก้ปวด แก้คันโดยใช้ดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้บดแล้วชงแบบชาก็ได้
- ใช้แก้อาหารเป็นพิษ แก้บิด โดยใช้เปลือกต้นผสมกับเปลือกต้นนุ่นต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ฟกช้ำโดยใช้ใบสดมาตำให้ละเอียดนำมาพอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้ทอลซินอักเสบโดยใช้ใบสดมาผสมกับน้ำเล็กน้อยแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้งิ้วป่าดอกขาวเพื่อเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามสรรพคุณทางยาที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เพราะยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยาที่แน่ชัด รวมถึงยังไม่มีขนาดและวิธีการใช้ที่แน่นอน ดังนั้นจึงควรใช้ในปริมาณแต่น้อย และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ หากจะใช้งิ้วป่าดอกขาว เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
ถิ่นกำเนินงิ้วป่าดอกขาว
งิ้วป่าดอกขาว เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ตั้งแต่จีนตอนใต้ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเขตการกระจายพันธุ์บริเวณทางตอนใต้ของจีน อินเดีย บังคลาเทศ พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น โดยจะพบได้ตามป่าเบญจพรรณป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง และบริเวณเขตหินปูนรวมถึงตามที่เปิดเชิงเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 400-1000 เมตร สำหรับในประเทศไทยมับจะพบตามภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก