ชื่อสมุนไพร : คื่นไช่
ชื่ออื่น ๆ : ขึ้นฉ่าย, คื่นช่าย, คื่นฉ่าย, คื่นไช่ (ทั่วไป), ผักกันปืน, ผักปืน, ผักปืม, ผักขาวปืน (ภาคเหนือ), ขึ่งฉ่าย, ฮั่งขึ่ง (จีนแต้จิ๋ว), ฉินช่าน, ฮั่นฉิน (จีนกลาง)
ชื่อสามัญ : Cerely, Garden Cerely, Smallage, Root Celery, Turnip-Rooted Celery
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Apium graveolens Linn.
ชื่อวงศ์ : UMBELLIFERAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นคื่นไช่ เป็นพรรณไม้ล้มลุก จะมีอายุประมาณ 1-2 ปี พรรณไม้นี้จะมีอยู่ 2 พันธุ์ พันธุ์ หนึ่งเป็นคื่นช่ายจีน (Chinese celery ) มีขนาดลำต้นเล็กและสูงประมาณ 1 ฟุตเศษส่วนอีพันธุ์หนึ่งเป็นขึ้นฉ่าย (celery) จะมีลำต้นอวบใหญ่มาก มีขานดของลำต้นนี้นจะสูงประมาณ 1.5-2 ฟุตทุกส่วนของต้น นั้นจะมีกลิ่นหอม และสีของลำต้นนั้นค่อนข้างขาวเหลือง ทั้งต้นจะอ่อนนิ่ม
- ใบคื่นไช่ จะเป็นใบประกอบออกตรงข้าม สีใบเป็นสีเหลืองอมเขียวใบย่อยเป็นรูปลีมหยัก ขอบใบจะหยัก คื่นช่ายจีน(Chinesecelery)ใบค่อนข้างเขียวแก่ ส่วนขึ้นฉ่าย(celery)ใบจะมีสีเหลืองอมเขียว
- ดอกคื่นไช่ จะออกเป็นช่อสีขาว เป็นช่อดอกแบบซี่ร่ม (compound Umbels)
- ผลคื่นไช่ ลักษณะของผลนั้นจะเล็กมาก เป็นสัน มีสีน้ำตาล
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ต้น, เมล็ด
สรรพคุณ คื่นไช่ :
- ต้นสด ใช้ขับปัสสาวะ เจริญอาหาร ขับระดู แต่งกลิ่นอาหาร ลดความดัน กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ช่วยลดจำนวน sperm
- เมล็ด ใช้เป็นยาระงับความกระวนกระวาย รักษาอาการปวดตามข้อเนื่องจากไขข้ออักเสบหรือน้ำหนักตัวมากเกินไป รักษาโรคหืด ใช้ขับประจำเดือนและขับลม ใช้เป็นยาขับลม แก้ปวดตามข้อ แก้ข้ออักเสบ
ข้อมูลเพิ่มเติม :
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ลดความดัน ใช้ทั้งต้นสด 1 กำมือ นำมาตำ คั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะรับประทาน หรือ อาจจะใช้รับประทานสดเป็นผักสลัด หรือ ใช้ผัดรับประทานก็ได้หรือจะใช้ต้นสด 1-2 กำ นำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ กรองเอากากออก ใช้รับประทานก่อนอาหารครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ
- ขับปัสสาวะ ใช้ทั้งต้นสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ผัด และทำสลัดรับประทานก็ได้
- แก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี ทั้งก่อน และหลังการมีประจำเดือน ด้วยการใช้คื่นไช่ สด 1 ขีด / รากบัวสด 1 ขีด / ขิง สด 1 ขีด / พุทราแดงจีนแบบแห้ง 1/2 ขีด นำมาต้มรวมกันในหม้อโดยกะน้ำพอท่วมยามากหน่อย ต้มจนเดือนแล้วนำมาดื่มก่อน หรือ หลังมีประจำเดือน ถ้าหากช่วงไหนปวดช่วงไหนก็ให้ดื่มบ่อยๆ หรือ จิบกินเรื่อยๆ แบบน้ำชา จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้
- รักษาโรครูมาติกและโรคเกาต์ ด้วยการใช้ผักคื่นไช่ประมาณ 3-4 ต้น นำมาต้มกับน้ำ 1 ลิตร ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง
- ส่วนในตำรับยาไทยระบุถึง รูปแบบ และขนาดวิธีใช้ตามสรรพคุณตามตำรายาไทยว่า หากใช้รักษาภายใน ให้ใช้ต้นสด 30-60 กรัม คั้นเอาน้ำ หรือ ต้นแห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำดื่ม หรือ อาจจะบดเป็นผง ทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนกินก็ได้ส่วนควรใช้เป็นยาภายนอก ให้ตำละเอียดแล้วพอก
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- การใช้คื่นไช่เพื่อต้องการสรรพคุณทางยา ควรใช้ตามขนาดที่ระบุไว้ในตำรับยาต่างๆไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
- หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานคื่นไช่ ในปริมาณมากทุกรูปแบบ เพราะอาจทำให้มดลูกหดตัว และเสี่ยงต่อภาวะแท้ง
- คื่นไช่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้มีเลือดออกง่ายขึ้น และอาจทำให้ความดันเลือดลดต่ำลง เมื่อรับประทานในปริมาณมากดังนั้น ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติและผู้ที่มีภาวะความดันต่ำจึงควรระมัดระวังในการรับประทาน
- ยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับคื่นไช่ เช่น ยาเลโวไทรอกซีน ยาลิเทียม ยาระงับประสาทหรือยาที่ออกฤทธิ์ให้เกิดอาการง่วงซึม เป็นต้น รวมถึงผู้ที่รับประทานยาเป็นประจำ หรือ มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะรับประทานคื่นไช่เพื่อเป็นยารักษาโรค
- ผู้ที่แพ้พืชในวงศ์ UMBELLIFERAE ควรหลีกเลี่ยงในการรับปรทานคื่นไช่ ทุกรูปแบบ
ประโยชน์ของคื่นไช่ที่นิยมกันในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน คือ นำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เมนูคื่นไช่เป็นที่นิยมทำอาหารต่างๆ หรือ อาจจะนำมาใช้รับประทานเป็นผักสด หรือใช้โรยหน้าอาหารประเภทยำต่างๆ ก็ได้ และนอกจากใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารแล้ว ยังสามารถนำผักคื่นไช่ มาคั้นเป็นน้ำดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพได้ นอกจากนี้น้ำมันคื่นไช่ สามารถนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ยาทาผิว ครีม และสบู่
ถิ่นกำเนิดขึ้นฉ่าย
ขึ้นฉ่ายเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ เช่น ประเทศสวีเดน, แอลจีเรีย และประเทศอียิปต์ แต่อีกข้อมูลหนึ่งเชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของขึ้นฉ่ายอยู่ในทวีปเอเชีย ได้แก่ ในประเทศจีน และเขตอบอุ่นในแถบเอเชียตะวันออก สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันที่นิยมปลูกขึ้นฉ่าย มีอยู่กันสองชนิด คือ ชนิดต้นเล็ก ซึ่งปลูกกันมาดั้งเดิมเป็นพันธุ์พื้นเมืองซึ่งนำเข้ามาจากประเทศจีนเรียกว่า คึ่นฉ่ายจีน ส่วนอีกชนิดหนึ่งมีขนาดของต้นสูงใหญ่กว่า ก้านใบยาวแข็ง เรียกว่าคึ่นฉ่ายเทศ หรือ คึ่นฉ่ายฝรั่ง คาดว่าเพิ่งนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้