ชื่อสมุนไพร : ครั่ง
ชื่ออื่นๆ : ครั่งดุ้น ครั่งดิบ, จุ้ยเก้ง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : แมลงครั่ง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Laccifera chinensis Mahdihassan)
ชื่อวงศ์ : แมลงครั่ง (ชื่อวงศ์ Lacciferidae)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- เป็นก้อนแข็งสีน้ำตาลแดง มีรูปร่างเป็นปมตะปุ่มตะป่ำติดกันตามความยาวของกิ่งไม้ที่มีรังครั่งเกาะอยู่ ครั่งไม่มีกลิ่น รสฝาด
หมายเหตุ : ครั่งได้จากรังของตัวครั่ง มักปล่อยให้ครั่งทำรังบนต้นไม้ฉำฉา (จามจุรี) ทองกวาว มะเดื่อ ตะคร้อ ไม้แดง สะแก สีเสียด ถั่วแฮ (ถั่วแระต้น) หรือไม้อื่นๆ ครั่งจะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากเปลือกต้นไม้ ตัวครั่งจะปล่อยชัน (resin) ที่เรียกว่า “ครั่ง” (Lac) ออกมาจากต่อมตามตัว เพื่อห่อหุ้มทำรังคลุมตัว สำหรับอยู่อาศัยวางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน
- ครั่งสามารถเลี้ยงได้บนต้นไม้หลายชนิด เช่น พุทรา, ฉำฉา, ต้นถั่วแระ, ทองกวาว, ปันแต, ก้ามกราม, ตะคร้อ, สะแก แต่ชนิดของต้นไม้เกี่ยวข้องกับคุณภาพของครั่ง ในอินเดียเลี้ยงครั่งบนต้นพุทราได้ผลดีมาก แต่ไทยเรากลัวหนามพุทรา จึงนิยมเลี้ยงบนต้น ก้ามปูหรือฉำฉา จึงไม่มีใครสนใจเรื่องคุณภาพของครั่งเท่าไรนัก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : สารที่ขับถ่ายจากแมลงครั่ง (ลักษณะเป็นยางหรือชัน)
สรรพคุณ ครั่ง :
- ใช้เป็นแก้ไอ แก้ข้อหัก ซ้น แพทย์แผนโบราณตามชนบทใช้รับประทานบำรุงเลือด ขับเสมหะ แก้ท้องร่วง แก้บิด และตกแต่งสียาให้เป็นสีชมพู ใช้ย้อมสีอาหาร
- ครั่งดิบ ใช้บำรุงเลือด แก้ท้องร่วง ท้องเสีย แก้บิด
- ครั่งจากต้นก้ามกราม รสฝาด แก้ไอ แก้ข้อหัก ซ้น
- ครั่งทั่วไป รสฝาด บำรุงโลหิต ห้ามเสมหะ คุมอาจม แก้ท้องร่วง ท้องเสีย
บัญชียาจากสมุนไพร : ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ครั่งในตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของครั่งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้
ครั่งที่ผลิตในเชิงการค้าในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้จากแมลงชนิด Laccifer chinensis Mahdihassan ส่วนที่ผลิตในเชิงการค้าในประเทศอินเดียและประเทศอื่นเป็นแมลงชนิด Laccifer lacca kerr หรือชนิด Laccifer indica kapur หรือแมลงในสกุล Laccifer ชนิดอื่นๆ