ชื่อสมุนไพร : ข้าวหลามดง
ชื่ออื่นๆ : ตูกะไซดีนาอาลี, จำปีหิน (ชุมพร), นมงัว (ปราจีนบุรี), ปอขี้แฮด (เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Goniothalamus laoticus (Finet & Gagnep.) Ban
ชื่อวงศ์ : ANNONACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นข้าวหลามดง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 4-8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกหนาสีเทาอมดำ กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล
- ใบข้าวหลามดง เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับสองข้างกิ่งในระนาบเดียวกัน แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ แผ่นใบหนา สีเขียว ปลายเรียวแหลม โคนใบสอบ ใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า ก้านใบยาว
- ดอกข้าวหลามดง ออกดอกเดี่ยวหรืออกเป็นกระจุก 2-5 ดอก ตามลำต้น กิ่งและตามง่ามใบ ก้านดอกยาว กลีบดอกยาวสีเหลืองนวลถึงสีชมพู มีกลิ่นหอม
- ผลข้าวหลามดง ออกเป็นกลุ่ม 6-12 ผล รูปกลมรี หรือทรงกระบอก ไม่มีก้านผล สีเขียวอมเหลือง เมล็ดมี 2-4 เมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : แก่น
สรรพคุณ ข้าวหลามดง :
- แก่น เป็นยาบำรุงร่างกาย และยาเพิ่มน้ำนมให้หญิงหลังคลอด บำรุงน้ำนม
คนโบราณนิยมใช้ลำต้นข้าวหลามดงตัวเดียว หรือต้มรวมกับเขยตาย มะเดื่อหอม ต้มกินบำรุงผู้หญิงหลังคลอด และยังเป็นยาแก้ซางเด็ก ยาบำรุงกำลัง
ข้อมูลเพิ่มเติม :
- ยาบำรุงน้ำนม ลำต้นข้าวหลามดง นำมาผ่าซีกแล้วต้มให้แม่อยู่กำ(อยู่ไฟ)กิน เพื่อรักษามดลูก เรียกน้ำนม อาจจะใส่สมุนไพรบำรุงน้ำนมตัวอื่นๆ เช่น นมวัว นมสาว นมน้อย นมแมว ลงไปด้วยก็ได้
- ยาบำรุงร่างกาย น้ำลายแห้ง ไม่อยากอาหาร ลำต้นข้าวหลามดง นำมาผ่าซีกแล้วต้มกิน หรือต้มรวมกับสมุนไพรยากำลังตัวอื่นๆ เช่น โด่ไม่รู้ล้ม ช้างน้าว นมสาว ตาไก้(กำแพงเจ็ดชั้น) เป็นต้น
ที่มาของชื่อ “ข้าวหลามดง” มาจากกลิ่นของลำต้นหรือกิ่งเมื่อถูกเผาไฟจะมีกลิ่นไหม้คล้าย ๆ กับกลิ่นหอม ของกระบอกข้าวหลามที่เผาสุกใหม่ ๆ ส่วนคำว่า “ดง” นั้นสื่อถึงว่า เป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามดงพงป่า หรือใส่คำว่า “ดง” ต่อท้ายชื่อเพื่อให้แตกต่างกับต้น “ข้าวหลาม” (ข้าวหมาก) ที่อยู่สกุลเดียวกัน (แต่ขึ้นในพื้นที่สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน)