ขลู่

ขลู่

ชื่อสมุนไพร : ขลู่
ชื่ออื่น ๆ :
หนาดงัว, หนาดวัว, หนวดงั่ว, หนวดงิ้ว (อุดรธานี), ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน), ขลู่ (ภาคกลาง), คลู, ขลู (ภาคใต้), หลวน ซี (จีนกลาง), หล่วงไซ (แต้จิ๋ว)
ชื่อสามัญ : Indian Marsh Fleabane
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pluchea indica (Linn.) Less.
ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขลู่ เป็นพรรณไม้พุม่ขนาดเล็ก ลำต้นมีความสูงประมาณ 0.5-2 เมตร แตกกิ่งก้านมากและเกลี้ยง


  • ใบขลู่ จะมีกลิ่นฉุน ใบเล็กรูปไข่กลับ มีความยาวประมาณ 1-5.5 ซม. กว้างประมาณ 2.5-9 ซม. ตรงปลายใบของมันจะมีลักษณะแหลม หรือ แหลมมีติ่งสั้น ขอบใบจะเป้นซี่ฟันและแหลม เนื้อในจะคล้ายกระดาษ ค่อนข้างเกลี้ยง แต่ไม่มีก้าน


  • ดอกขลู่ จะออกเป็นช่อฝอยมีสีขาวนวล หรือสีม่วง จะออกตามง่ามใบ ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ก้านช่อดอก จะมีความยาวประมาณ 2-6 มิลลิเมตร แต่ไม่มีก้านดอก ริ้วประดับ มีลักษณะแข็ง สีเขียว และเรียงกันประมาณ 6-7 วง วงอยู่นอกนั้นจะเป็นรูปไข่ วงที่อยู่ในจะคล้ายรูปหอกแคบและตรงปลายของมันจะแหลม กลีบดอกวงนอกกลีบดอกยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ดอกวงในกลีบดอกจะเป็นรูปท่อมีความยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ปลายจักเป็นซี่ฟันประมาณ5-6 ซี่ อับเรณู ตรงโคนจะเป็นรูปหัวลูกศรสั้น ๆ เกสรท่อเกสรตัวเมียจะมี 2 แฉกสั้น ๆ


  • ผลขลู่ แห้ง จะมีรูปทรงกระบอกยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร มีสัน 10 สัน ระยางค์มีน้อย สีขาว ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร แผ่กว้าง

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น, ใบ, ราก

สรรพคุณ ขลู่ :

  • ใบ รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้ริดสีดวงทวาร แก้กระษัย เป็นยาอายุวัฒนะ สมานภายนอกภายใน แก้ไข้ ขับเหงื่อ ต้มดื่มแทนชาเพื่อลดน้ำหนัก แก้ปวดเมื่อย ขับระดูขาว
  • ใบและต้นอ่อน ใช้บรรเทาอาการปวดในโรคไขข้ออักเสบ รักษาประดง เลือดลม หรือต้มอาบรักษาหิด ขี้เรื้อน
  • ใบและราก เป็นยารักษาไข้ หรือพอกแก้แผลอักเสบ ขับเหงื่อ
  • ดอก รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้โรคนิ่ว
  • ทั้งต้น รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้ปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะ แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้ริดสีดวงจมูก แก้กระษัยกล่อน เป็นยาช่วยย่อย แก้วัณโรค
  • เปลือกต้น รสเมาขื่นหอม แก้ริดสีดวงจมูก แก้ริดสีดวงทวาร แก้กระษัย เป็นยาอายุวัฒนะ
  • ราก รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้กระษัย แก้โรคนิ่ว ขับปัสสาวะ เป็นยาอายุวัฒนะ

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาแก้อาการขัดเบา ใช้ทั้งต้นขลู่ 1 กำมือ (สดหนัก 40- 50 กรัม แห้งหนัก 15- 20 กรัม ) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร หรือนำ
    ใบขลู่แห้ง 5 กรัมชงในน้ำเดือด 100 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำ ใช้ดื่มเพื่อช่วยขับปัสสาวะ
  • เป็นยาริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก ใช้เปลือกต้น ต้มน้ำ เอาไอรมทวารหนัก และรับประทาน แก้โรคริดสีดวงทวาร หรือใช้เปลือกต้น (ขูดเอาขนออก) แบ่งเป็น 3 ส่วน
    ส่วนที่    1  นำมาตากแห้งทำเป็นยาสูบ
    ส่วนที่    2  นำมาต้มน้ำรับประทาน
    ส่วนที่    3  ต้มน้ำเอาไปรมทวารหนัก
  • เปลือกบางของต้นขูดขนออกให้สะอาด ทำเป็นเส้นตากแห้ง คล้ายเส้นยาสูบ แก้ริดสีดวงจมูก
  • ใบแก่ที่ทำให้แห้งใช้ชงดื่มแทนน้ำเป็นชา มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต รักษาโรคเบาหวาน ขับลม,แก้โรคเลือด,แก้มุตกิดระดูขาวในสตรี แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ใบและต้นอ่อนนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยรักษาหิด และขี้เรื้อน รักษาประคบ ช่วยแก้ผื่นคัน
  • อีกตำราหนึ่งระบุขนาดการใช้ตามสรรพคุณต่างๆ ของขลู่ว่า ยาแห้งให้ใช้ประมาณ 15-20 กรัม หากเป็นต้นสดให้ใช้ประมาณ 30-40 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ร่วมกับตัวยาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ในตำรับยาต่างๆ
  • รักษาอาการขัดเบา ปัสาวะพิการ ขับปัสสาวะ ทั้งต้น ใช้ต้มกิน รักษาอาการขัดเบา ปัสาวะพิการ ขับปัสสาวะ รับประทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 75 มิลลิลิตร หรือ 1 ถ้วยชา นอกจากนี้ยังใช้รักษาโรควัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง โรคเบาหวาน ริดสีดวงทวาร ขูดเอาแต่ผิวต้นผสมกับยาสูบ แล้วนำมาสูบรักษาริดสีดวงจมูก
  • ลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวดเมื่อย มุตกิด ใบ ใช้ต้มน้ำดื่มแทนชาเพื่อลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวดเมื่อย มุตกิด และนำมาต้มน้ำอาบบำรุงประสาท เป็นยาบีบมดลูก น้ำคั้นรักษาโรคบิด ใบแก่ ๆ สด ๆ เอามาตำบีบน้ำและทา ตรงหัวริดสีดวงทวาร จะทำใหัหัวริดสีดวงหดหายได้ นอกจกานี้ยังนำมาตำผสมกับเกลือรักษากลินปาก และระงับกลิ่นตัว
  • รักษาไข้ พอกแก้แผลอักเสบ ขับเหงื่อ ใบและราก เป็นยาฝาดสมาน รักษาไข้ พอกแก้แผลอักเสบ ขับเหงื่อ ผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ ต้มน้ำอาบรักษาเส้นตึง และยังทำเป็นขี้ผึ้งทาแผลเรื้อรัง
  • บรรเทาอาการปวดในโรคไขข้ออักเสบ รักษาประดง เลือดลม ใบและต้นอ่อน ใช้บรรเทาอาการปวดในโรคไขข้ออักเสบ รักษาประดง เลือดลม ตำผสมกับแอลกอฮอล์ ทาหลังบริเวณเหนือไต บรรเทาอาการปวดเอว ต้มน้ำอาบรักษาหิด ขี้เรื้อน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. การบริโภคใบขลู่สดหรือดื่มชาขลู่ในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจมีผลเสียต่อสุขภาพของร่างกายได้เช่นกัน หลักการดื่มชาขลู่เพื่อเสริมสร้างสุขภาพก็คล้ายกับการดื่มชาจีน ชาเขียวและชาสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะสมควรต่อวัน (1-2 แก้วต่อวัน) ดื่มระหว่างมื้ออาหาร และไม่ดื่มชาที่เหลือค้างคืน
  2. สำหรับปริมาณการซื้อชะพลูในแต่ละครั้งควรซื้อในปริมาณที่สามารถบริโภคหมดภายในสี่เดือนเพราะสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเสื่อมสลายได้ตามระยะเวลาการเก็บ สังเกตได้จากสีของชาขลู่จะเปลี่ยนเป็นสีออกเหลือง
  3. การเตรียมชาขลู่จากใบชาขลู่สดหรือแห้งควรเป็นการต้มในน้ำใกล้เดือดและต้มนานอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้สามารถสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพให้ได้มากเพียงพอ
  4. ควรเก็บชาขลู่ในภาชนะทึบแสงและปิดสนิทเพื่อกันการสลายตัวของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเนื่องจากแสงและกันการได้รับความชื้นซึ่งอาจทำให้มีการเจริญของเชื้อรา
  5. ใบของต้นขลู่ที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่าชายเลนอาจมีปริมาณโซเดียมสูงมากเนื่องมาจากต้นขลู่ได้รับเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ที่มาจากความเค็มของดินดังนั้นผู้ที่ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจไม่ควรรับประทานใบขลู่ในปริมาณมาก
Scroll to top