ชื่ออื่น : กระจาย ขี้คาก (แพร่), มะหนามจาย (ตาก), หนามหัน (จันทบุรี), หนามแดง (ตราด), จิงจ่าย งาย ฮายปูน (นครศรีธรรมราช), ฮาย (สงขลา), งาย (ปัตตานี), ขี้แรด (ภาคกลาง), ฮาย ฮายปูน (ภาคใต้), มะเบ๋น (เงี้ยว-ภาคเหนือ), ตาฉู่แม สื่อกีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caesalpinia digyna Rottl.
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE–CAESALPINIOIDEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกำจาย จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงของต้นได้ 2.5-10 เมตร ลำต้นมีสีขาวนวลถึงน้ำตาลต้นอ่อนผิวเรียบแต่ลำต้นแก่และก้านใบมีหนามแหลมแข็งโค้งคล้ายหนามกุหลาบ และบริเวรกิ่งอ่อนมีขนสั้นขึ้นปกคลุมทั่วไป
- ใบกำจาย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกแบบเรียงสลับ มีก้านใบยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมีประมาณ 8-12 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน มีขนาดกว้าง 3-4 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน โคนใบเบี้ยว ปลายใบมน แผ่นใบเป็นสีเขียวสด ใบอ่อนมีขนนุ่ม เมื่อใบแก่ขนจะร่วงหมด หูใบเรียวแคบ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ร่วงได้ง่ายก้านใบย่อยมีขนาดสั้นมาก
- ดอกกำจายออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกตามง่ามใบและที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเหลืองสด มีขนาดไม่เท่ากัน แต่ละกลีบค่อนข้างกลม ปลายหยักเว้า เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ แต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน กลีบด้านนอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบชั้นอื่น โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูมีขนเป็นปุย รังไข่เกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย มีออวุล 3-4 เม็ด สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม
- ผลกำจาย ผลออกเป็นฝักลักษณะแบน กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร และยาว 3.5-5 เซนติเมตร เป็นรูปรีแกมขอบขนาน ตรงกลางป่องเล็กน้อย ปลายเป็นจะงอย แหลมมีขอบเป็นสัน ฝักดิบเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ แต่จะไม่แตกอ้า ด้านในฝักมีเมล็ดมีประมาณ 2-3 เมล็ด มีลักษณะค่อนข้างกลมสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 9 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 12 มิลลิเมตร ออกผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ทั้งต้น, ผล
สรรพคุณ กำจาย :
- ราก รสเบื่อเย็นเล็กน้อย ขับโลหิตระดู แก้ไข้ แก้พิษงู ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษฝี รักษาแผลสด แก้แผลเรื้อรัง ทางภาคอีสาน ใช้รากผสมกับรากมะขามป้อม ต้มน้ำดื่มแก้กามโรค
- ทั้งต้น ต้มน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน แก้พิษงู
- ผล (ฝักสด) มีรสฝาด นำไปตำละเอียดห่อผ้าขาวบางคั้นเอาน้ำชำระล้างแผลสด ห้ามเลือด สมานแผล ทำให้หายเร็ว และรอยแผลเป็นไม่มี นำไปต้มดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง
ข้อมูลเพิ่มเติม :
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้กำจายเป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานเนื่องจากกำจายมีสรรพคุณในการขับประจำเดือนในสตรี ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ สำหรับคนที่มีสุขภาพปกติ ก็ควรระมัดระวังการใช้กำจาย เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้