ชื่อสมุนไพร : กะเพรา
ชื่ออื่น ๆ : กระเพรา, กะเพราแดง, กะเพราขาว (ภาคกลาง), ก่ำก้อขาว, ก่ำก้อดำ, กอมก้อขาว, กอมก้อดำ(เชียงใหม่-ภาคเหนือ), ห่อตูปลู, ห่อกวอซู(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ : Sacred Basil, holy Basil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum sanctum Linn.
วงศ์ : LABRATAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกะเพรา ไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.3 – 1.0 เมตร ลำต้นตั้งตรง ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม โคนต้นแข็ง มีขนคลุมทั่ว แตกกิ่งก้านสาขามาก และมีกลิ่นหอมแรง กะเพรามี 3 พันธุ์ คือ กะเพราะแดง กะเพราขาว และกะเพราลูกผสมระหว่างกะเพราแดงและกะเพราขาว มีลักษณะทั่วไปคล้ายโหระพา ต่างกันที่กลิ่นและกิ่งก้านซึ่งมีขนปกคลุมมากกว่า กะเพราขาว มีใบและลำต้นสีเขียว และกะเพราะแดง มีใบและลำต้นสีแดงอมเขียว
- ใบกะเพรา เป็นใบเดี่ยว แตกใบออกตรงข้ามในแต่ละข้อของลำต้นและกิ่ง ลักษณะใบรูปรีหรือรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่มหรือมน ขอบใบจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบบางสีเขียวหรือสีแดง และมีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ก้านใบสีเขียวหรือสีแดงแล้วแต่พันธุ์
- ดอกกะเพรา ออกดอกเป็นช่อแบบช่อฉัตร ออกช่อที่ยอดหรือปลายกิ่ง ริ้วประดับรูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายแหลม ขอบมีขน ดอกย่อยแบบสมมาตรด้านข้าง ก้านดอกโค้งยาวมีขน มีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็นปาก กลีบดอกสีขาวอมม่วงหรือสีม่วงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังปลายแยกเป็นปาก ปากบนมีแฉกมนๆ 4 แฉก ปากล่างโค้งลง แบน ขอบเรียบ ดอกกะเพราแดงสีเข้มกว่ากะเพราขาว
- เมล็ดกะเพรา มีขนาดเล็ก รูปไข่ สีน้ำตาลมีจุดสีเข้ม หุ้มด้วยกลีบเลี้ยงของเมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เมล็ด, ราก
สรรพคุณ กะเพรา :
- ใบหรือทั้งต้น ใช้เป็นยาขับลมแก้ปวดท้อง ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน นิยมใช้กะเพราแดงมากกว่ากะเพราขาว
- ใบ รสเผ็ดร้อน ต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด แก้ลมตานซาง แก้คลื่นเหียนอาเจียน น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาขับเสมหะ ขับเหงื่อ ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมัน น้ำคั้นจากใบใช้ทาภายนอกแก้โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน รักษาหูด หยอดหูแก้อาการปวดหู ใบแห้งใช้ชงดื่มกับน้ำแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และน้ำมันจากใบใช้เป็นยาฆ่ายุงได้ซึ่งมีฤทธิ์ได้นาน 2 ชั่วโมง หรือไล่แมลงวันทอง บดเป็นยานัตถุ์ แก้คัดจมูก ยาชงหรือน้ำต้มใบใช้แก้ตับอักเสบและบำรุงธาตุสำหรับเด็ก
- ดอก รสเผ็ดร้อน ผสมกับน้ำผึ้งรับประทานแก้หลอดลมอักเสบ
- เมล็ด รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ และไตอักเสบ, เมื่อนำเมล็ดไปแช่น้ำจะพองตัวเป็นเมือกขาวใช้พอกบริเวณตาเมื่อฝุ่นละอองเข้าตาหรือตามีผง และจะไม่ทำให้ตาช้ำ
- ราก รสเผ็ดร้อน ต้มน้ำดื่มเป็นยาขับเหงื่อในคนไข้โรคมาลาเรีย แก้ธาตุพิการ
- ทั้งห้า หรือทุกส่วนของต้น เป็นยาเพิ่มน้ำนมในสตรีหลังหลอดบุตร ขับน้ำนม บรรเทาอาการไข้เรื้อรัง
ข้อมูลเพิ่มเติม :
รูปแบบและขนาดวิธีใช้กะเพรา
- ลดอาการท้องอืดเฟ้อ ขับลม ปวดท้อง โดยใช้ใบสด 1 กำมือ (น้ำหนักสดประมาณ 25 กรัม หรือใบแห้ง 4 กรัม ต้มให้เดือด เอาแต่น้ำดื่ม หรือจะใช้ใบกะเพราแห้ง ชงกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม ถ้าป่นเป็นผงให้ชงกับน้ำรับประทาน ในเด็กอ่อนใช้ใบสด ใส่เกลือเล็กน้อยบดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งหยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2-3 หยด เป็นเวลา 2-3 วัน จะช่วยขับลมและถ่ายขี้เทา
- แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ) โดยใช้ใบและยอดสด 1 กำมือ (ประมาณ 25 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มหรือใช้กะเพราทั้ง 5 ทั้งสด หรือ แห้ง ชงน้ำดื่ม รับประทานเด็กอ่อน ใช้ใบสด 3-4 ใบ ผู้ใหญ่ ใบแห้ง 1 กำมือ หรือ ใบสด 25 กรัม หรือ ผงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 2 ช้อนแกง
ใช้แบบยาภายใน เด็กอ่อน – ใช้ใบสด ใส่เกลือเล็กน้อย บดให้ละเอียด ผสมน้ำผึ้ง หยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2-3 หยด เป็นเวลา 2-3 วัน จะช่วยขับลม และถ่ายขี้เทา ผู้ใหญ่ – ใช้ใบกะเพราแห้ง ชงกับน้ำดื่ม เป็นยาขับลม ถ้าป่นเป็นผง ให้ชงกับน้ำรับประ
ใช้แบบยาภายนอก ใช้ใบสดทาบริเวณท้องเด็กอ่อน จะลดอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อได้หรือใช้ใบสดคั้นกับหาหิงส์ทารอบ ๆ สะดือ และฝ่าเท้าก็ใช้ได้เช่นกัน - ยาเพิ่มน้ำนมในสตรีหลังคลอดใช้ใบกะเพราสด 1 กำมือ แกงเลียงรับประทานบ่อยๆ หลังคลอดใหม่ๆ
- ยารักษากลากเกลื้อนใช้ใบสด 15-20 ใบ ตำหรือขยี้ให้น้ำออกมา ใช้ทาถูตรงบริเวณที่เป็นกลาก ทาวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
- ยารักษาหูดใช้ใบกะเพราแดงสด ขยี้ทาตรงหัวหูด เข้า-เย็น จนกว่าหัวหูดจะหลุด
- เมล็ดกะเพราเมื่อนำไปแช่น้ำเมล็ดจะพองตัวเป็นเมือกขาว เมือกนี้สามารถใช้พอกบริเวณตาเมื่อตามีผลหรือฝุ่นละอองเข้า ผงหรือฝุ่นก็จะออกมา ซึ่งจะไม่ทำให้ตาช้ำอีกด้วย
- รากกะเพราที่แห้งดีแล้วนำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อนเพื่อดื่มซึ่งสามารถใช้บรรเทาโรคธาตุพิการหรืออาหารไม่ย่อยได้
- แก้ลมพิษ ด้วยการใช้ใบกะเพราประมาณ 1 กำมือนำมาตำผสมเหล้าขาวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นลมพิษ
ใช้เป็นยาสมุนไพร ใช้ไล่หรือฆ่ายุงใช้ทั้งใบสดและกิ่งสด 1 กิ่งใหญ่ ๆ เอาใบมารขยี้ แล้ววางไว้ใกล้ๆ ตัว จะช่วยไล่ยุงได้ และยังสามารถไล่แมลงได้ด้วย น้ำมันกะเพรา เอาใบสดมากลั่น จะได้น้ำมันกะเพรา ซึ่งมีคุณสมบัติไล่ยุงได้ดีกว่าต้นสด ๆ