กระสัง

กระสัง

ชื่ออื่น : กระสัง, ชากรูด(ภาคใต้), ตาฉี่โพ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ผักกระสัง, ผักกะสัง(ภาคกลาง), ผักกูด(เพชรบุรี), ผักราชวงศ์(แม่ฮ่องสอน), ผักสังเขา(สุราษฎร์ธานี), ผักฮากกล้วย(ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peperomia pellucida Korth.
ชื่อวงศ์ : PEPEROMIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกระสัง เป็นพืชล้มลุกซึ่งมีขนาดเล็ก ที่มีส่วนสูงเพียง 10-20 เซนติเมตร ลำต้นจะเปราะหักได้ง่าย อุดมไปด้วยน้ำ สีเขียวใส
    กระสัง
  • ใบกระสัง เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ ปลายแหลม โคนเว้าตื้นๆ ขอบเรียบ มีต่อมโปร่งแสง ช่อดอกออกที่ข้อตรงข้ามกับใบ เรียงโค้งขึ้น ประกอบด้วยดอกเล็กๆ ที่ไม่มีก้านดอกจำนวนมากเวียนรอบแกน
  • ดอกกระสัง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ไม่มีทั้งกลีบเลี้ยง และกลีบดอก มีใบประดับดอกละ 1 ใบ มีเกสรเพศผู้ 2 อัน อยู่ข้างๆ รังไข่ อับเรณูสีขาว ก้านชูอับเรณูสั้น เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่รูปกลม อยู่เหนือฐานดอก
  • ผลกระสัง ลักษณะกลม มี 1 เมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ

สรรพคุณ กระสัง :

  • ใบ ใช้รักษาแผลลักปิดลักเปิด รักษาแผลฝีหนอง มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ตำให้แหลกแล้วใช้แก้ปวดศีรษะ และแก้ไข้
  • น้ำคั้นจากใบ ใช้แก้ปวดท้อง ยาชงใช้แก้ชัก ใช้เป็นยาพอกทำให้อุ่นใช้พอกฝี และแผล

ข้อมูลเพิ่มเติม :

  • หมอพื้นบ้านในที่ต่างๆ เช่น ในประเทศอินเดีย นิยมใช้ผักกระสังมาตำพอกหรือคั้นเอาน้ำทาบริเวณฝีที่มีหนอง แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือบริเวณหัวสิวได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ แก้อักเสบ ใบสดสามารถรักษาโรคลักปิดลักเปิด แก้ไข้ แก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ
  • ในประเทศบังคลาเทศ ใช้ทั้งต้นกระสังมาต้มน้ำรักษาอาการท้องเสีย (เนื่องจากสารแทนนินในต้นกระสังมีสรรพคุณแก้อาการท้องเสีย) นำมาตำพอกบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย หรือบริเวณที่ถูกงูกัดก็ได้เช่นเดียวกัน
  • ในประเทศไนจีเรีย ใช้ใบสดของกระสังรักษาโรคน้ำกัดเท้าและรักษาบาดแผล
  • ประโยชน์ด้านอาหาร
    ยำผักกะสัง ทำได้ง่ายๆ หั่นผักชิ้นพอประมาณ 1-2 ทัพพี น้ำมะนาว 1-2 ช้อนโต๊ะ กุ้งแห้ง 1-2 ช้อนโต๊ะ พริกขี้หนูแห้งทอด พอประมาณ มะม่วงซอย 1-2 ช้อนโต๊ะ หัวหอมซอย พอประมาณ แครอทซอยฝอยๆ 1-2 ช้อนโต๊ะ ถั่วลิสงคั่ว พอประมาณ ขิงซอย 1-2 ช้อนโต๊ะ หมูหยอง พอประมาณ โหระพา สะระแหน่ ไว้แต่งรส น้ำปลา 1-2 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย 1-2 ช้อนโต๊ะ จากนั้นรวมเครื่องปรุงทุกอย่างเข้าด้วยกัน ปรุงรสตามใจชอบ พร้อมตักเสิร์ฟได้เลย
Scroll to top