ชื่อสมุนไพร : กระเจียว
ชื่ออื่น ๆ : อาวแดง, กาเตียว, จวด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma sessilis Gage.
ชื่อวงศ์ : ZINGIBERACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกระเจียว ไม้ล้มลุกมีเหง้าใต้ดินอยู่ได้หลายปี สูง 40 – 60 เซนติเมตร อาจขึ้นเป็นต้นเดียวหรือหลายต้นรวมกันเป็นกอ สูงประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร
- ใบกระเจียว ใบ และกาบใบ เป็นลำต้นเทียมที่แตกออกมาจากเหง้าใต้ดิน โผล่ขึ้นมามองให้เห็นเหนือดิน ใบเป็นใบเดี่ยว ใบ และกาบใบมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง กาบใบยาวประมาณ 5-10 ซม. ตัวใบกว้างประมาณ 7-10 ซม. ยาวประมาณ 15-23 ซม. ใบมีลักษณะคล้ายใบขิง เรียวยาวเป็นรูปหอก ใบจะแห้ง และร่วงไปในช่วงหน้าหนาวเดือนธันวาคม เหลือเพียงหัวที่อยู่ใต้ดิน จนถึงต้นหน้าฝนหลังฝนตกแล้วจึงค่อยออกดอกให้เห็น พร้อมกับเริ่มแทงใบใหม่ออกมาหลังดอกบาน
- ดอกกระเจียว ออกเป็นช่อ แทงออกบริเวณใจกลางของลำต้น มีก้านดอกมักเป็นสีขาวหรือสีแดงม่วง ส่วนตัวดอกที่มองเห็นจะเป็นใบประดับ มักมีหลายสีผสมกัน อาทิ สีแดง สีชมพู สีขาว สีม่วง และสีเหลือง ก้านดอกมีลักษณะทรงกลมยาว ขนาดประมาณ 0.5-1 ซม. ยาวประมาณ 3-8 ซม. ตัวดอกประกอบด้วยใบประดับจำนวนมาก เรียงซ้อนกันขึ้นสูงเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 10-18 ซม. ภายในใบประดับจะเป็นดอกจริงที่มีรูปร่างคล้ายดอกกล้วยไม้ มีลักษณะเป็นหลอด มีกลีบดอกเป็นสีม่วง แต้มด้วยสีเหลือง โดยในแต่ละซอกของใบประดับจะดอก 2-7 ดอก และจะพัฒนาได้เป็นผลเพียง 2 ผล เนื่องจากผลมีขนาดใหญ่ และอยู่ภายในซอกใบประดับได้เพียง 2 ผล ทั้งนี้ ดอกจะบานในช่วงเช้าหลังได้รับแสงแดด และจะค่อยเหี่ยวในช่วงบ่าย ดอกออกเพียงปีละครั้ง ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ของทุกปี
- ผลกระเจียว ผลของดอกกระเจียวจะพัฒนามาจากดอก ซึ่งส่วนมากในซอกของใบประดับมักพบประมาณ 2 ผล ผลมีลักษณะกลม ภายในเป็นเมล็ดที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดองุ่น ด้านปลายของเมล็ดมีเยื่อบางๆสีขาว เมล็ดมีลักษณะเป็นแฉก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก, ดอกอ่อน, หน่ออ่อน, เหง้า, ใบ
สรรพคุณ กระเจียว :
- ดอกอ่อน มีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ใช้เป็นยาขับลมในกระเพาะอาหาร ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และลดกรดในกระเพาะอาหาร จึงช่วยทำให้รู้สึกสบายท้องและช่วยให้สุขภาพดี
- ดอก มีสรรพคุณช่วยแก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอด
- หน่ออ่อน ใช้เป็นยาสมานแผล
- เหง้า ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย
- ใบ ตำคั้นน้ำรักษาแผล ห้ามเลือด