ชื่ออื่น : รักใหญ่
ชื่ออื่น : รักเทศ, มะเรียะ, น้ำเกลี้ยง, ฮักหลวง, รัก, ซู้, สู่, ฮัก, รักหลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gluta usitata (Wall.) Ding Hou.
ชื่อวงศ์ : ANACARDIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นรักใหญ่ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างกลม ทุกส่วนของต้น มีน้ำยางใส เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทาแตกเป็นร่องยาว หลุดลอกออกเป็นชิ้นเหลี่ยมบางๆ เปลือกชั้นในสีชมพูอ่อนมียางใส เมื่อถูกอากาศจะเข้มขึ้นจนเป็นสีดำ กิ่งอ่อนและยอดปกคลุมด้วยขนยาวสีขาว กิ่งแก่เกลี้ยง หรือมีขนสั้นๆ
- ใบรักใหญ่ ใบเดี่ยวออกสลับกันอยู่ตอนปลาย ๆ กิ่ง รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ โคนใบสอบ ปลายใบมน ใบอ่อนมีขนปกคลุมหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน ด้านบนใบมีขนสีน้ำตาลปนเทาประปราย ด้านท้องใบ มีขนหนาแน่นแต่จะร่วงหลุดไปเมื่อใบแก่เต็มที่ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบกว้าง 5-12 ซม. ยาว 12-36 ซม. ก้านใบยาว 1-3 ซม. โคนก้านที่ติดกับกิ่งพองป่อง เส้นแขนงใบ ข้างละ 15-25 เส้น นูนชัดเจนทางด้านบน เป็นแบบร่างแหชัดเจนทางด้านล่าง มักพบแมลงไข่ไว้ตามใบและจะเกิดเป็นตุ่มกลมๆ ตามใบ
- ดอกรักใหญ่ ดอกสมบูรณ์ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง หรือใกล้ปลายกิ่งและซอกใบ มักทิ้งใบก่อนออกดอก ดอกเริ่มบานจากสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูและแดงสด ดอกออกเป็นกลุ่มช่อหนาแน่นในซอกใบบนๆ ช่อดอกยาวได้ถึง 35 ซม. ก้านดอกยาว 1-1.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม สีน้ำตาลปกคลุม ดอกย่อยจำนวนมาก ดอกตูม รูปขอบขนาน กว้างประมาณ 2.5 มม. ยาวประมาณ 5 มม. มีขนประปราย ที่ปลายมีขนเป็นกระจุก กลีบดอกสีขาวมีแถบสีเหลืองแกมเขียวตรงกลาง กลีบดอก 5-6 กลีบ แผ่กว้าง ปลายแคบแหลม ด้านหลังกลีบมีขน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ เชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 แฉก ในดอกแก่กลีบเลี้ยงรูปร่างคล้ายหมวก กว้าง 0.7-1.8 มม. ยาว 3-7.5 มม. สีแดง มี 5 กลีบ ผิวด้านในมีขนสั้นนุ่ม กลีบดอก รูปขอบขนาน กว้าง 1-2 ซม. ยาว 6-7 ซม. ปลายแหลมหรือมน มีขนอุยหนาแน่น กลีบดอกขยายขนาดขึ้น และกลายเป็นปีกเมื่อติดผล จานฐานดอกเกลี้ยง เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาวประมาณ 1 ซม. รังไข่กลม ก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน ติดด้านข้างของรังไข่
- ผลรักใหญ่ ผลแบบ drupe กลม แข็ง ขนาด 0.8-1.2 ซม. มีส่วนของกลีบดอกที่ขยายเป็นกลีบสีแดงรองรับ รูปขอบขนาน 5 ปีก ระหว่างโคนปีกกับผลมีก้านเชื่อมยาว 1.5 ซม. ปีกยาว 5-10 ซม. มีเส้นปีกชัดเจน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เมล็ด, เปลือกต้น, เปลือกราก, ยาง
สรรพคุณ รักใหญ่ :
- เมล็ด รสขมฝาด ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคฟัน แก้ปากคอเปื่อย แก้คุดทะราด แก้ริดสีดวง แก้ไส้เลื่อนในกระเพาะปัสสาวะ
- เปลือกต้น รสฝาด เมาเบื่อร้อน ต้มดื่มแก้โรคเรื้อน แก้กามโรค แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้ปวดข้อเรื้อรัง บำรุงกำลัง ขับเหงื่อ ทำให้อาเจียน
- เปลือกราก รสเมาเบื่อ ขับพยาธิลำไส้ แก้ไอ แก้ท้องมาน แก้โรคผิวหนัง
- ยาง รสขมเอียน เป็นยาถ่ายอย่างแรง (ก่อนใช้ทำยาต้องฆ่าฤทธิ์เสียก่อน) ปรุงยาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ริดสีดวง รักษาโรคตับ โรคท้องมาน ฆ่าพยาธิ
ยาแก้พิษรัก คนที่แพ้รัก ใช้เปลือกต้น พยอมแดง ต้มเอาน้ำดื่มและอาบ
ภาพที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช