ชื่อสมุนไพร : ยาสูบ
ชื่ออื่น ๆ : จะวั้ว(เขมร-สุรินทร์)
ชื่อสามัญ : Tobacco
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nicotiana tabacum Linn.
ชื่อวงศ์ : SOLANACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ใบยาสูบ เป็นไม้ใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ โคนใบจะแคบแทบจะไม่มีก้านใบเลย ใบมีขนาดโตและหนา มีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่ด้วยสีเขียว
- ดอกยาสูบ ออกเป็นช่อยาวขึ้นไป ตรงส่วนปลายยอด ซึ่งจะบานตั้งแต่ส่วนล่างไปหาส่วนบนตามลำดับ ดอกมีสีชมพูอ่อน ๆ เกือบขาว หรือสีแดงเรื่อ ๆ ดอกสวยงามน่าดูมาก
- ผลยาสูบ เป็น capsule
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ (อ่อนและแก่)
สรรพคุณ ยาสูบ :
- ใบ ใช้ฆ่าเหา ใช้ยาฉุนหรือยาตั้ง (ใบยาสูบแก่ตากแห้ง) 1 หยิบมือ ผสมกับน้ำมันก๊าดประมาณ 3-4 ช้อนแกง ชะโลมทั้งน้ำและยาเส้นลงบนผมทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง แล้วสระให้สะอาด ทำติดต่อกัน 3-4 วัน
- เป็นยาถอนพิษ รักษาแผลน้ำร้อนลวก ใช้ยาเส้นหรือยาตั้ง 1 หยิบมือ คลุกกับน้ำมันมะพร้าวปิดบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวก จะช่วยถอนพิษ
- แก้หวัดคัดจมูก ใช้ใบยาอย่างฉุนจัดๆ ผสมกับปูนแดงและใบเนียม กวนเป็นยานัตถุ์
- แก้หิดและโรคผิวหนัง ใช้ยางสีดำๆ ในกล้องสูบยาของจีนใส่แต้มแผล แก้หิดได้ดีมาก ใช้เคี่ยวกับน้ำมันทารักษาโรคผิวหนังต่างๆ ได้ด้วย
คุณประโยชน์ทางยา ใช้น้อย
- การสูบบุหรี่โดยการเผาใบยานี้ ทำให้นิโคตินและอัลคาลอยด์อื่นๆ สลายตัว วัตถุเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นพิษขึ้นในการสูบบุหรี่ มีหลายคนแสดงว่าการสูบบุหรี่ มีอำนาจกล่อมประสาท (Soothing) แต่ไม่ใช่เนื่องจากอำนาจของนิโคติน
- การสูบบุหรี่มากทำให้เจ็บคอและไอ เนื่องจากลำคอและหลอดลม อักเสบบวม ถ้าอาการแรงหน่อยจะทำให้หัวใจอ่อนและเต้นไม่สม่ำเสมอ และผ่อนสภาพประสาทส่วนกลาง ความจำไม่ดี มือสั่น หายใจอ่อน ความดันโลหิตลดลงต่ำ เหงื่อออกมาก แต่ถ้าเป็นคนสูบประจำ ก็จะไม่มีอาการเหล่านี้ เพราะร่างกายสามารถอ๊อกซิไดซ์นิโคตินได้พอควร คนที่สูบซิกาแรตวันละ 25 มวน จะต้องเสียสีของเม็ดโลหิตแดงไปประมาณ 25% ในคราวหนึ่ง
- นิโคตินเป็นแอลคาลอยด์ชนิดน้ำ มีอยู่ในใบของยาสูบประมาณ 7% ละลายง่ายในน้ำ แอลกอฮอล์ และอีเธอร์ ใช้มากในทางเกษตรกรรม ปรุงเป็นยาฉีดแมลงและเพลี้ยต่างๆ ได้ผลดี การผสม ใช้นิโคติน 1 ส่วน สบู่อ่อน 20 ส่วน ในน้ำ 2,000 ส่วน ยานี้มีพิษแรง ใช้ระวังถูกผิวหนังจะซึมเข้าไป เป็นพิษมาก