ชื่อสมุนไพร : มะเดื่อปล้อง
ชื่ออื่นๆ : เดื่อป่อง, เดื่อปล้อง, เดื่อสาย, ตะเออน่า, เอาแหน่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus hispida L.f.
ชื่อวงศ์ : Moraceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นมะเดื่อปล้อง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูงได้ถึง 12 เมตร ไม่ผลัดใบ หรือกึ่งผลัดใบ ลำต้นตั้งตรงเปลือกหนา เปลือกต้นสีเทาปนดำ ต้นและกิ่งมีลักษณะเป็นข้อปล้องชัดเจน คล้ายรอยขวั้นเป็นข้อๆตลอดถึงกิ่ง กิ่งอ่อนกลวง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวขุ่น
- ใบมะเดื่อปล้อง เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 5-13 ซม. ยาว 11-28 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบมีซี่หยักละเอียดโดยเฉพาะครึ่งปลายบน เนื้อใบคล้ากระดาษ ผิวใบด้านบนมีขนสากปกคลุม ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่ม ใบแก่มีขนหยาบๆและบนเส้นใบด้านล่าง เส้นใบข้างโค้ง 5-9 คู่ เส้นใบที่ฐานยาว 1/5 ของใบ ก้านใบยาว 1.5-4 ซม. มีต่อมเป็นปม มีหูใบยาว 1-2.5 ซม.หลุดร่วงง่าย กิ่งก้านอ้วนสั้น ลำต้นอ่อนกลวง
- ดอกมะเดื่อปล้อง ออกเป็นช่อแบบชนิดช่อมะเดื่อ (syconium) ตามกิ่งและลำต้น อาจพบออกตามโคนต้น หรือตามกิ่งที่ห้อยลงไม่มีใบ กิ่งใหญ่ๆอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร บางครั้งเลื้อยไปตามพื้นดิน หรือพบบ้างที่เกิดตามง่ามใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่น เจริญอยู่บนฐานของดอกที่ห่อหุ้มไว้มีลักษณะคล้ายผล ภายในกลวง ที่ปลายมีช่องเปิดที่มีใบประดับปิดอยู่ และมีก้านช่อดอกยาว ดอกอ่อนสีเขียว ดอกแก่สีเหลือง ที่โคนมีใบประดับ 3 ใบ ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร รูปสามเหลี่ยม ภายในมีดอก 3 ประเภทคือ ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกปุ่มหูด ดอกเพศผู้มี 1-2 แถว กลีบรวมจักเป็น 3-4 พู ปลายมีขน เกสรเพศผู้มี 1 อัน ดอกปุ่มหูดไม่มีก้าน กลีบรวมปกคลุมรังไข่ ดอกเพศเมียมีหรือไม่มีก้าน กลีบรวมเชื่อมติดกันคล้ายปลอกหรือท่อสั้นๆ
- ผลมะเดื่อปล้อง ชนิดผลแบบมะเดื่อ กลมแป้น รูปลูกข่าง ติดเป็นกลุ่มแน่น 10-15 ผล ผลอ่อนสีเขียว แบบมะเดื่อ เมื่อแก่สีเหลือง ผลมีขนาด 2.5-4 ซม. รูปลูกข่าง แคบที่ฐาน ยอดผลแบนหรือบุ๋ม มีเส้นสัน 7-9 เส้น แผ่รอบๆจากยอด มีขนอ่อนนุ่ม และเกล็ดปกคลุมห่างๆ ก้านผลยาว 0.6-2.5 ซม. มีกาบรูปสามเหลี่ยม 3 กาบ เป็นช่อยาวตามแนวของกิ่ง ห้อยลงจากลำต้นและกิ่งใหญ่ๆ
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล, เมล็ด, ใบ, ราก, ลำต้น, เปลือกต้น, เหง้า
สรรพคุณ มะเดื่อปล้อง :
- ผล มีรสขม เป็นยาเย็น แก้กระหายน้ำ ฝาดสมาน แก้บิด แก้บวมอักเสบ เป็นยาพอก ใช้ล้างแผล สมานแผล ขับน้ำนม แก้โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคโลหิตจาง ริดสีดวงทวาร โรคตัวเหลือง เลือดกำเดาไหล อาการปวดกระเพาะ ไข้จับสั่น
- ผลแห้ง รักษาแผลในปาก ทำให้อาเจียน (กินผลดิบทำให้วิงเวียนได้)
- ใบ ต้มน้ำดื่ม รักษาอาการไข้หลังคลอดบุตร หนาวสั่น ปัสสาวะเหลืองหรือเป็นเลือด ใส่แผลฝี แผลในจมูก แผลหนองอักเสบ
- ราก ลำต้น เหง้า ต้มน้ำดื่ม กระตุ้นการหลั่งน้ำนม แก้หวัด
- ราก และเปลือกต้น รสฝาดเฝื่อน ใช้ตำทาแก้ฝี แก้เม็ดผื่นคันตามผิวหนัง กินแก้พิษในกระดูก กล่อมเสมหะ แก้ท้องเสีย แก้ประดง
- เปลือก ผล เมล็ด มีฤทธิ์ทำให้อาเจียน
- เปลือก เป็นยาทำให้อาเจียน ยาระบาย ยาพอกฝีมะม่วง ยาบำรุง แก้มาลาเรีย แก้ปวดท้องในเด็ก รักษาสิวฝ้า กระดูกแตกหัก ใช้ทำเชือกหยาบๆ
- ลำต้น มีรสเฝื่อนฝาด แก้เม็ดฝี และกินแก้พิษในกระดูก