ชื่อสมุนไพร : พันงูเขียว
ชื่ออื่น ๆ : เดือยงู, พระอินทร์โปรย, สารพัดพิษ, สี่บาท, หญ้าหางงู
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stachytarpheta indica Vahl
ชื่อวงศ์ : VERBENACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นพันงูเขียว เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว ลำต้น สูงถึง 1 เมตร กิ่งอ่อนรูปสี่เหลี่ยม ต้นแก่สีเทาแกมเขียว
- ใบพันงูเขียว ใบเดี่ยว เรียงตัวแบบตรงข้าม ก้านใบ ยาว 0.5-1 มิลลิเมตร ใบรูปไข่กลับหรือรูปรี โคนใบแหลม ปลายใบมน หรือมีติ่งแหลมเล็ก ขอบใบหยักห่างๆ ผิวใบมีขนสีขาวปกคลุมยาว 1-3 มิลลิเมตร ใบกว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร ก้านใบและใบอ่อนมีขนปกคลุม เส้นใบมีสีม่วงแกมเขียว
- ดอกพันงูเขียว ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว 15-40 เซนติเมตร ดอกย่อยฝังอยู่ในแอ่งก้านดอกช่อ แต่ละดอกมีใบประดับ 1 อันรูปสามเหลี่ยม ก้านดอกย่อยสั้นมาก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียว กลีบดอกติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 5 แฉก สีม่วง
- ผลพันงูเขียว ผลแห้ง รูปไข่ มีเมือกเหนียวสามารถติดขน ผิวหนังของสัตว์ได้ เส้นผ่าศูนย์กลางผล 1-2 มิลลิเมตร เมล็ดกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 มิลลิเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น, เปลือก, ใบ
สรรพคุณ พันงูเขียว :
- ทั้งต้น ใช้รักษาโรคปวดข้อ โรคตาแดง โรคกระเพาะ โรคนิ่ว รักษาอาการอาเจียน ขับพยาธิ และใช้ต้นสด ตำพอกบริเวณแผลอักเสบ แผลเปื่อย ฝีและหนองได้
- เปลือก ใช้รักษาอาการ ท้องเสียและโรคบิด
- ใบ รักษาคออักเสบ โดยใช้ใบสดตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำตาล ใช้อม ใบทาถูนวดบริเวณที่ปวดเมื่อยและรักษาฝีหนอง