ฝิ่น

ฝิ่น

ชื่อสมุนไพร : ฝิ่น
ชื่อสามัญ :  Opium poppy
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papaver somniferum L.
ชื่อวงศ์ : PAPAVERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นฝิ่น เป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านได้บ้าง สูง 50-150 เซนติเมตร ทุกส่วนของพืชให้ยาง สีน้ำนม เมื่อถูกอากาศจะกลายเป็นยางเหนียวสีน้ำตาลไหม้หรือดำ มีกลิ่นเหม็นเขียวและรสขม เรียกว่า ฝิ่นดิบ ส่วนฝิ่นที่มีการนำมาใช้เสพ เรียกว่า ฝิ่นสุก ได้มาจากการนำฝิ่นดิบไปต้มหรือเคี่ยวจนสุก
    ฝิ่น
  • ใบฝิ่น เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปขอบขนาน โคนใบเว้า ขอบใบเป็นคลื่นหรือหยักเว้าลึก ออกตามบริเวณโคนต้น ลักษณะของใบคล้ายกับใบผักกาดขาว หรือใบ มหากาฬ กว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร ใบที่อยู่ใกล้โคนต้นมีก้านใบสั้น
  • ดอกฝิ่น เป็นดอกเดี่ยว อยู่บริเวณปลายลำต้น เป็นดอกขนาดใหญ่ มีก้านดอกยาว 20-30 เซนติเมตร ออกที่ยอด มีสีสด มีทั้งสีขาว สีชมพู สีแดง หรือสีม่วง กลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ ร่วงง่าย กลีบดอกมี 4 กลีบ ปลายมนแผ่ออกหรือหยักเป็นฝอย ร่วงง่าย เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เกสรเพศเมียมีปลายยอดเป็นจานแผ่ออกเป็นรัศมี 4-20 แฉก เท่าจำนวนพูของผล
  • ผลฝิ่น รูปค่อนข้างกลม ขนาดวัดผ่านศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร มีฝาปิดด้านบน เมล็ดมีขนาด
    วัดผ่านศูนย์กลาง 0.5-1 มิลลิเมตร รูปไต สีขาว สีนวล หรือสีเทามีจำนวนมาก มีลักษณะคล้ายกับผลทับทิมอ่อน ๆ  ผลเมื่อแก่พอได้ขนาดก็จะมี การกรีดยาง โดยฝิ่นใช้ปลายมีดเล็กเล็กกรีดจากหัวขั้ว จนถึงก้นลูก จากนั้นก็จะปล่อยให้มันแห้งเป็นสีเหลืองนวล ข้างในผลมีเมล็ดเป็นสีดำเหลือบขาวเล็กน้อย อยู่ตามซีกกลีบข้างใน เป็นเม็ดกลมเล็ก ๆ

 

 

 

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกลำต้น, ยางฝิ่น

สรรพคุณ ฝิ่น :

  • เปลือกลำต้น นำมาใช้เป็นยาแก้ลงแดง เป็นยาคุมธาตุหรือเป็นยาแก้ปวดเมื่อย
  • ยาง ใช้ยางฝิ่นหลังจากที่ได้ผ่านกรรมวิธี โดยการนำเอายางสดที่กรีดมา แล้วเอามา ต้มเคี่ยวให้สุก จะมีกลิ่นหอมนำมาสูบ ฉีด หรือนำมาผสมเป็นยา แก้บิดเรื้อรัง แก้ลงแดง แก้ปวดท้อง แก้ปวดเมื่อย ทำให้จิตใจเป็นปกติ และทำให้นอนหลับ

ข้อดีของ ฝิ่น :

ในยางฝิ่นมีสารประกอบประเภทอัลคาลอยด์เกือบ 25 ชนิด ที่สำคัญคือ มอร์ฟีน โคเดอีน และปาปาเวอรีน ซึ่งมีสรรพคุณในการเป็นยารักษาโรคถ้าใช้อย่างถูกต้อง มอร์ฟีน เป็นยาแก้ปวดที่ดีมาก และเป็นยานอนหลับ ปาปาเวอรีน เป็นยาแก้ปวดเมื่อย ทำให้กล้ามเนื้อคลาย ส่วนโคเคอีน ใช้ระงับอาการไอ แอลคาลอยด์ทั้งสามชนิดนี้ ต่างมีฤทธิ์เสพย์ติดแต่มอร์ฟีนมีฤทธิ์แรงที่สุด ผลของการเสพติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้มีอาการซึม ตาลาย การเห็นภาพต่าง ๆ ผิดปรกติ ระบบประสาทถูกทำลาย ขาดความรู้สึกตัว และอาจถึงแก่ความตาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลาเมล็ดฝิ่นไม่มีฤทธิ์เสพติด นำมาบดและใช้ประกอบอาหารอ่อนสำหรับเด็กและคนชรา เป็นอาหารที่มีประโยชน์เนื่องจากมีทั้งคาร์โบไฮเดรท โปวิตามิน และแร่ธาตุ น้ำมันจากเมล็ดฝิ่นใช้ผสมสี ทำน้ำมันชักเงา หรือเติมไอโอดีนแล้วทำเป็นยารักษาโรคคอพอก

ข้อเสียและฤทธิ์ในทางเสพติด :

  1. ฝิ่นมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง สารเคมีที่มีผสมอยู่มากมายในเนื้อฝิ่น ซึ่งประกอบด้วย โปรตีน เกลือแร่ ยาง และกรดอินทรีย์ เป็นอัลคาลอยด์ ซึ่งเป็นสารผสมอยู่ในเนื้อฝิ่น อันเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ฝิ่นกลายเป็นยาเสพติดให้โทษที่ร้ายแรง
  2. อัลคาลอยด์ในฝิ่นมีประมาณ 25 ชนิด แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดอาการมึนเมา และเป็นยาเสพติดให้โทษโดยตรง ในทางเภสัชวิทยาถือว่าเป็นยานอนหลับ ส่วนประเภทที่ 2 ออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนคลายตัว จึงไม่เป็นสารเสพติด แต่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ
  3. อาการเสพติดทางร่างกายและจิตใจ ได้แก่ จิตใจเลื่อยลอย ง่วง ซึม แก้วตาหรี่ พูดจาวกวน ความคิดเชื่องช้า ไม่รู้สึกหิว ชีพจรเต้นช้า
  4. อาการขาดยา จะมีลักษณะอาการเริ่มต้น คือ น้ำตา น้ำมูกไหล ปวดหัว เกิดอาการคัน หาวนอน ขนลุก สะบัดร้อนสะบัดหนาว ม่านตาขยาย ต่อมาจะหงุดหงิด กระวนกระวาย ตื่นตกใจ อาการขั้นรุนแรงขึ้น คือ นอนไม่หลับ เหงื่อออก ปวดเมื่อยตามแขนขา คลื่นไส้อาเจียน และมีอาการท้องร่วง
Scroll to top