ชื่อสมุนไพร : ส้มเขียวหวาน
ชื่ออื่นๆ : มะขุน มะเขียว มะแง มะจุก มะบาง ส้มแก้วเกลี้ยง ส้มแก้วโบราณ ส้มขี้ม้า ส้มจีนเปลือกล่อน ส้มจันทบูร ส้มจุก ส้มเชียงตุง ส้มตรังกานู ส้มแป้นกระดาน ส้มแป้นเกลี้ยง ส้มแป้นขี้ม้า ส้มแป้นหัวจุก ส้มแสงทอง ส้มเหม็น
ชื่อสามัญ : Tangerine
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus reticulata Blanco
ชื่อวงศ์ : RUTACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นส้มเขียวหวาน เป็นไม้ผลต้นขนาดเล็กถึงกลาง
- ใบส้มเขียวหวาน เป็นใบประกอบชนิดที่มีใบย่อยหนึ่งใบ ส่วนก้านใบจะแผ่เป็นปีกเรียก winged petiole จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กแล้วแต่ชนิดของส้ม ถ้านำใบมาส่องดู จะเห็นเป็นจุดใสๆ ซึ่งเป็นจุดของต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไป เมื่อขยี้ใบดมดูจะมีกลิ่นหอม เพราะมีน้ำมันหอมระเหย ลำต้น กิ่งก้าน มีหนามแหลมอยู่ทั่วไป
- ดอกส้มเขียวหวาน ออกเป็นกระจุกตามกิ่งเล็กๆ หรือปลายยอด มีกลิ่นหอม กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย
- ผลส้มเขียวหวาน กลม หรือกลมรี ผลแก่ผิวผลสีเหลือง ภายในมีเนื้อและมีเมล็ด เนื้อรับประทานได้ หวานหรือเปรี้ยว
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกผล
สรรพคุณ ส้มเขียวหวาน :
- เปลือกผล ใช้แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น แก้ลมท้องขึ้น อืดเฟ้อ รักษาโรคผมร่วง ใช้ปรุงยาหอมแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย แก้ลมจุกเสียดแน่นเฟ้อ
ตำรายาไทยผิวส้มเขียวหวานจัดอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบด้วย ผิวส้มเขียวหวาน ผิวส้มจีน ผิวส้มซ่า ผิวส้มโอ ผิวส้มตรังกานู ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว หรือผิวส้มโอมือ และผิวมะกรูด มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงยาหอม แก้ทางลม
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้ผิวส้มเขียวหวาน ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของผิวส้มเขียวหวาน อยู่ใน ”เปลือกส้ม 8 ประการ” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น