สมุนไพรแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม

กระเทียม

ชื่ออื่นๆ                 หอมเทียม (พายัพ), เทียม, หัวเทียม (ใต้ – ปัตตานี)

ส่วนที่ใช้               หัวสด

ขนาด                     5 – 7 กลีบ หรือ 2 กรัม

วิธีใช้                      รับประทานสดๆ กับอาหารทุกๆ วันก็ได้  ถ้าเป็นกระเทียมโทนจะน่ารับประทานมาก


ขิง

ชื่ออื่นๆ                 ขิงบ้าน, ขิงเผือก (เชียงใหม่)

ส่วนที่ใช้               เหง้าแก่ เหง้าอ่อน ทั้งสดและแห้ง

ขนาด                     ผงขิงแห้ง 1 ข้อนโต๊ะปาดๆ หรือ 0.6 กรัม  ถ้าขิงแก่สดยาวประมาณ 1 องคุลีหรือประมาณ 5 กรัม

วิธีใช้                      ต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลดื่มทุกๆ วัน ถ้าเป็นขิงผงแห้งใช้ชงน้ำน้ำร้อนเติมน้ำตาลดื่ม


กะเพรา

ชื่ออื่นๆ                 กะเพราขาว, กะเพราดำ, กะเพราขน (ไทย), กอนก้อดำ (พายัพ), กอมก้อ (ภาคเหนือ)

ส่วนที่ใช้               ใบสด ใบแห้ง ทุกส่วนของต้น (เรียกว่ากะเพราทั้ง 5)

ขนาด                     รับประทาน เด็กอ่อนใช้ใบสด 3 – 4 ใบ

ผู้ใหญ่ ใบแห้ง 1 กรัมมือ, 4 กรัม ใบสด 25 กรัม

ยาภายนอก  เด็กอ่อน ใบสด 10 ใบ

วิธีใช้                      ยาภายใน เด็กอ่อนใช้ใบสด ใส่เกลือเล็กน้อยบดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้ง หยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2 – 3 หลอด เป็นเวลา 2 – 3 วัน จะช่วยขับลม และถ่ายขี้เทา

ในผู้ใหญ่ ใบกะเพราแห้ง ชงกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม ถ้าป่นเป็นผงให้ชงกับน้ำรับประทาน คนโบราณใช้ใบกะเพราสดแกงเลียงให้สตรีหลังคลอดรับประทาน ช่วยขับลม บำรุงธาตุ

ยาภายนอก ใช้ใบสดทาบริเวณท้องเด็กอ่อน จะลดอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อได้

กะเพรามี 2 ชนิด คือ กะเพราขาวและกะเพราแดง กะเพราแดงจะมีฤทธิ์แรงกว่ากะเพราขาว ในทางยานิยมใช้กะเพราแดง แต่ถ้าประกอบอาหารมักใช้กะเพราขาว


ช้าพลู

ชื่ออื่นๆ                 ชะพลู (ไทย), พลูนก, ผักปูนก (พายัพ), พลูลิงนก (เชียงใหม่), นมวา (ใต้) ผักอีไร, พลูลิง (อีสาน),

ส่วนที่ใช้               ราก

ขนาด                     1 กำมือ

วิธีใช้                      ต้มกับน้ำรับประทาน 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ½ ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว


ดีปลี

ชื่ออื่นๆ                 ประดงข้อ, ปานนุ, พิษพญาไฟ (ไทย), ปิ๊กฮวด (จีนแต้จิ๋ว),

ส่วนที่ใช้               ผล (ชาวบ้านมักเรียกว่าดอก)

ขนาด                     ใช้ผลที่ยังไม่สุกแต่แก่จัด 3 – 4 ผล (หรือ 0.5 – 1 กรัม)

วิธีใช้                      นำผลดีปลีที่แก่ซึ่งมีสีเขียวจัด แต่ไม่สุก (ถ้าสุกจะมีสีแดง) ต้มกับน้ำรับประทาน


กานพลู

ชื่ออื่นๆ                 ดอกจันทน์ (เชียงใหม่), จันจี่ (เหนือ)

ส่วนที่ใช้               ดอกโตเต็มที่ที่ยังตูมอยู่

ขนาด                     4 – 6 ดอก หรือ 0.25 กรัม

วิธีใช้                      ในผู้ใหญ่ใช้ทุบให้ช้ำ ชงน้ำดื่มครังละครึ่งถ้วยแก้ว ในเด็กใช้ 1 ดอก ทุบแล้วใส่ลงในขวดนม ถ้าเด็กอ่อนใช้ 1 ดอก ทุบใส่ในกระติกน้ำที่ใช้สำหรับชงนม


ว่านน้ำ

ชื่ออื่นๆ                 คาเจี้ยงจี้, ผมผา, ส้มชื่น, ฮางคาวน้ำ, ฮางคาวบ้าน (เหนือ), ทิลีปุตอ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) ฮางคาวผา (เชียงใหม่), หังงอ

ส่วนที่ใช้               เหง้า

ขนาด                     เหง้าสด 9 – 12 กรัม เหง้า 3 – 6 กรัม

วิธีใช้                      ใช้เหง้าว่านน้ำ 9 กรัม ชงด้วยน้ำร้อน 2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว ก่อนอาหารเย็นติดต่อกันจนกว่าธาตุจะปกติ


จันทน์เทศ

ชื่ออื่นๆ                 จันทน์บ้าน (เหนือ), จันทร์ปาน (เชียงใหม่),

เนื้อไม้ชาวบ้านเรียกว่าจันทน์เทศ รกเรียกดอกจันทน์ เมล็ดเรียกลูกจันทน์

ส่วนที่ใช้               แก่น รก และเมล็ด

แก่น แก้ไข้ บำรุงตับ ปอด

รก ขับลม แต่งกลิ่น เครื่องเทศ เจริญอาหาร

เมล็ด ขับลม เครื่องเทศ เจริญอาหาร

ขนาด                     รก และเมล็ด ขนาด 0.5 กรัม หรือรับประทาน 1 – 2 เมล็ดหรือใช้รก 4 อัน

วิธีใช้                      ป่นรก หรือ เมล็ดให้เป็นผงละเอียด ชงน้ำครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 – 3 ครั้ง 2-3 วัน


พริกไทย

ชื่ออื่นๆ                 พริกน้อย (เหนือ), พริกไทยดำ, พริกไทยล่อน

ส่วนที่ใช้               ผลแก่

ขนาด                     0.5 – 1 กรัม ประมาณ 15 – 20 เมล็ด

วิธีใช้                      บดเป็นผง ชงน้ำรับประทาน 1 ครั้ง


กระวาน

ชื่ออื่นๆ                 กระวาน, กระวานดำ, กระวานแดง, กระวานโพธิสัตว์, กระวานขาว (ไทยภาคกลาง – ตะวันออก)

ส่วนที่ใช้               ผลแก่จัด

ขนาด                     0.6 – 2 กรัม ประมาณ 6 – 10 ผล หรือผง 1 – 3 ช้อนชา

วิธีใช้                      ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือครึ่งแก้ว ใช้รับประทานครั้งเดียว


เร่ว

ชื่ออื่นๆ                 ผาลา (ฉาน – เชียงใหม่), มะหมากอี, มะอี้, หมากอี (เชียงใหม่), หมากเร็ง (ตะวันออกเฉียงเหนือ), หมากแหน่ง (สระบุรี)

ส่วนที่ใช้               เมล็ดจากผลที่แก่จัด

ขนาด                     0.6 – 2 กรัม ประมาณ 5 – 8 เมล็ด

วิธีใช้                      เช่นเดียวกับกระวาน


ไพล

ชื่ออื่นๆ                 ปูลอย, ปูเลย (เหนือ), ว่านไฟ (กลาง), มิ้นสะล่าง (ฉาน – แม่ฮ่องสอน)

ส่วนที่ใช้               เหง้า

ขนาด                     ½ ถึง 1 ช้อนชา ของผงเหง้าแห้ง

วิธีใช้                      ชงน้ำร้อน ผสมเกลือเล็กน้อยรับประทาน


ข่า

ชื่ออื่นๆ                 ข่าตาแดง

ส่วนที่ใช้               เหง้าสด

ขนาด                     ใช้เหว้าสดประมาณ 1 ถึง 1 ½ นิ้วฟุต (ประมาณ 2 องคุลี)

วิธีใช้                      เอาเหง้าสดตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำรับประทานครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว แก้ท้องขึ้นท้องอืด และสามารถแก้ท้องเดิน และอาเจียน (ที่เรียกว่าโรคป่วง) ได้ด้วย


เปราะหอม

ชื่ออื่นๆ                 หอมเปราะ (กลาง), ว่านตีนดิน, ว่านแผ่นดินเย็น, ว่านหอม (เหนือ)

ส่วนที่ใช้               หัวสดหรือแห้ง

ขนาด                     สด 10 – 15 กรัม แห้ง 5 – 10 กรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ สดใช้ ½  – 1 กำมือ

วิธีใช้                      ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ดื่มวันละ 1- 2 ครั้ง


ขมิ้นอ้อย

ชื่ออื่นๆ                 ขทิ้นขึ้น (เหนือ), ละเมียด (เขมร), ฉอวดำ (เชียงใหม่),

ส่วนที่ใช้               เหง้าสดและแห้ง

ขนาด                     เหง้าสด 2 – 4 ชิ้น หั่นขวางหัว

หัวซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ½ นิ้ว หรือ 2 องคุลี

เหง้าแห้ง 2 – 4 ชิ้น

วิธีใช้                      บดให้เป็นผง หรือสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ มาก ชงน้ำเดือดรับประทาน


 

Scroll to top