กระท้อน เป็นไม้ผลเขตร้อน เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์กระท้อน (Meliaceae) ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลกระท้อนมีสีสะดุดตา เป็นต้นไม้ที่ทนแล้งได้ดี
กระท้อน
ชื่ออื่นๆ : เตียน, ล่อน, สะท้อน(ภาคใต้), มะต้อง(ภาคเหนือ,อุดรธานี), มะติ๋น(ภาคเหนือ), สตียา, สะตู(มาเลย์-นราธิวาส), สะโต(มาเลย์-ปัตตานี)
ชื่อสามัญ : Sentul, Santol, Red sentol, Yellow sentol
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sandoricum koetjape ( Burm. f.) Merr.
ชื่อวงศ์ : MELIACEAE
ลักษณะของ กระท้อน :
- ต้นกระท้อน เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูง 15-40 เมตร ต้นเปลา ตรง แตกกิ่งต่ำ เปลือกสีเทาอมน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ
- ใบกระท้อน ใบแก่จัดสีแดงอิฐหรือสีแสด ใบช่อ ยาว 20-40 ซม. ช่อติดเรียงสลับเวียนกันไป ใบปลายช่อเป็นใบเดี่ยว
- ดอกกระท้อน ดอกช่อ ออกรวมเป็นช่อ ไม่แยกแขนงตามปลายกิ่ง ช่อยาว 5-15 ซม. มีขนนุ่มทั่วไป ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อน หรือเขียวอ่อนอมเหลือง ดอกสมบรูณ์เพศ กลิ่นหอมอ่อนๆ
- ผลกระท้อน ผลกลมหรือแป้น อุ้มน้ำ ผลอ่อนสีเขียว แก่จัดสีเหลือง เมล็ดรูปไต เรียงตามแนวตั้ง 5 เมล็ด ออกดอกเดือน มกราคม -มีนาคม และเป็นผลเดือน มีนาคม – พฤษภาคม
ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์
เชื่อกันว่ากระท้อนมีถิ่นกำเนิดในอินโดจีนและมาเลเซียตะวันตก ก่อนจะถูกนำไปปลูกที่ประเทศอินเดีย, เกาะบอร์เนียว, ประเทศอินโดนีเซีย, หมู่เกาะโมลุกกะ, ประเทศมอริเชียส, และประเทศฟิลิปปินส์และกลายเป็นพืชท้องถิ่นไป กระท้อนถูกปลูกเป็นพืชเชิงพานิชย์ตลอดพื้นที่ในเขตนี้
ชื่อพื้นเมือง
- ฟิลิปิโน: santol
- อินโดนีเซีย: kecapi, ketuat, sentul
- มลายู: kecapi, kelampu, ranggu
- ไทย: กระท้อน, สะท้อน; มะต้อง หรือ มะตื๋น (ภาคเหนือ) บักต้อง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ภาคใต้เรียกล่อน เตียน สะตูและสะโต ชื่อจังหวัดสตูลมาจากภาษามลายูหมายถึงกระท้อน
- พม่า: သစ်တို thi’ tou [θɪʔ tò]
- ฝรั่งเศส: faux mangoustanier, santol
- เขมร: បំពេញរាជ្យ (ក្រពេញរាជ, លោះ) [krɑpɨɲ riec]
- ลาว: ໝາກຕ້ອງ [mȁːktɔ̂ːŋ]
- สิงหล: donka
- อังกฤษ: santol
สายพันธุ์
พันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสูดเป็นพันธุ์กระท้อนห่อที่มีรสหวาน ได้แก่ พันธุ์อีล่า ปุยฝ้าย นิ่มนวล อินทรชิต ทับทิม ขันทอง เทพรส อีแดง ส่วนพันธุ์พื้นเมืองจะมีผลดก ผลมีขนาดเล็ก รสเปรี้ยว จึงนิยมนำมาทำเป็น กระท้อนดอง กระท้อนทรงเครื่อง
พันธุ์ปุยฝ้าย
พันธุ์ปุยฝ้ายหรือปุยฝ้ายแท้เป็นกระท้อนพันธุ์พื้นเมืองของ ต.ตะลุง เป็นที่นิยมบริโภคมากที่สุด เพราะผลกระท้อนมีรสหวาน มีเปลือกที่นิ่มเหมือนกำมะหยี่ และเม็ดกระท้อนมีปุยเหมือนปุยฝ้าย จึงเป็นกระท้อนที่จำหน่ายได้สูงสุด ขนาดของผลมีตั้งแต่เล็กไปถึงใหญ่ สีเหลืองนวลสวย ผลกลมแป้น เม็ดกระท้อนจะมีปุยมากกว่าสายพันธุ์อื่น ปุยกระท้อนเมื่อทานไปแล้วจะเหมือนว่า ปุยกระท้อนละลายในปาก ชาวสวนกระท้อนนิยมเรียกว่าปุยฝ้ายแท้ เป็นพันธุ์ที่กลายมาจากพันธุ์ทองหยิบ
พันธุ์อีล่า
พันธุ์อีล่าหรือปุยฝ้ายเกษตรเป็นกระท้อนพันธุ์พื้นเมือง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งชาวบ้าน ต.ตะลุง ได้รับแจกสายพันธุ์มาจากกระทรวงเกษตร เล่ากันว่าชาวปราจีนบุรี เรียกกระท้อนพันธุ์นี้ว่าปุยฝ้ายเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่รสชาติที่กระท้อนอีล่าเมื่อยังไม่แก่จัดจะมีรสอมเปรี้ยว และผลกระท้อนจะมีขนาดใหญ่มากบางผลน้ำหนักถึง 0.9 กิโลกรัม ขนาดของผลมีขนาดใหญ่ ผิวจะไม่เรียบ สีโทนเหลืองสด ผลคล้ายเป็นจุก รสอมเปรี้ยวเมื่อยังไม่แก่จัด หากผลแก่รสชาติจะหวานมีปุยเหมือนปุยฝ้ายกระท้อนพันธุ์อีล่า มักจะสุกช้ากว่ากระท้อนทุกพันธุ์
พันธุ์ทับทิม
เป็นกระท้อนพันธุ์เมืองดั้งเดิม ของ ต.ตะลุง แต่ไม่มีคนรู้จักมากนัก เนื่องจากมีชาวสวนที่ปลูกกระท้อนพันธุ์ทับทิมไม่มาก แต่ด้วยรสชาติที่มีรสหวาน ลักษณะผลกลม มีขนาดไม่ใหญ่มาก สีเหลืองนวล ผิวกระท้อนเรียบเนียนสวย เปลือกนิ่ม ผลกลม
พันธุ์นิ่มนวล
เป็นกระท้อนที่มีลักษณะ เปลือกบาง เนื้อหนานิ่ม ไม่กระด้าง ปุยหุ้มเมล็ดหนาฟู รสหวานจัดเป็นสายพันธุ์ที่นิยมบริโภคกันมาก ทรงผลกลมแป้น มีขั้วสั้น ผิวเปลือกเรียบมีสีเหลืองอมน้ำตาล เปลือกบาง ขนาดผล 300 – 600 กรัมต่อผล ผลกลม
การใช้ประโยชน์
กระท้อนใช้ทำอาหารคาวหวานได้หลายชนิด ทั้งอาหารคาว เช่น แกงฮังเล แกงคั่ว ผัด ตำกระท้อน และอาหารหวาน เช่น กระท้อนทรงเครื่อง กระท้อนลอยแก้ว กระท้อนดอง แยม กระท้อนกวนและเยลลี่ หรือกินเป็นผลไม้สด กระท้อนเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงในบิโกล ประเทศฟิลิปปินส์ นำกระท้อนไปแกงกับกะทิ
ทางด้านสมุนไพร กระท้อนมีสรรพคุณทางยาหลายประการ ใบสด ใช้ขับเหงื่อ ต้มอาบแก้ไข้ เปลือกต้นต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ราก เป็นยาขับลม แก้ท้องเสีย บิด เป็นยาธาตุ หลายส่วนของกระท้อนมีฤทธิ์แก้อักเสบ และสารสกัดจากกิ่งกระท้อนบางชนิดมีผลยับยั้งมะเร็งในหลอดทดลอง สารสกัดจากเมล็ดกระท้อนมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง