มะยม ผลไม้ลูกเล็ก รูปร่างคล้ายเฟืองมนๆ สีเขียวใส รสเปรี้ยวเกินตัวชนิดนี้ อยู่คู่กับคนไทยมาเนิ่นนาน เพราะนอกจากจะเป็นไม้มงคลที่ปลูกกันตามบ้าน ด้วยความเชื่อที่ว่าจะช่วยให้มีคนนิยมชมชอบแล้ว มะยมยังเป็นพืชที่ปลูกง่าย ให้ผลดก สามารถเก็บกินสดเป็นผลไม้ นำไปประกอบอาหาร หรือจะแปรรูปเป็นมะยมดอง มะยมเชื่อม มะยมกวน หรือแยมมะยมก็เก็บไว้กินได้นานทีเดียว
มะยม
ชื่ออื่นๆ : หมากยม(ภาคอีสาน), ยม(ภาคใต้)
ชื่อสามัญ : Star Gooseberry
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus acidus (L.) Skeels
ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae
มะยมมีดีมากกว่าความเปรี้ยว ที่แน่ๆ คือมีวิตามินซีเพื่อใช้ในการสังเคราะห์คอลลาเจน ช่วยให้ผิวแข็งแรง ต้านอนุมูลอิสระ และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีวิตามินเอช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นธาตุสองชนิดที่มีมากที่สุดในร่างกาย และยังทำงานร่วมกันในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง มะยมจะให้ผลดกเป็นพิเศษในช่วงปลายฝนต้นหนาว จึงเหมาะกับการเป็นผลไม้ป้องกันหวัดในยามที่อากาศเปลี่ยนแปลง มะยมเป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของคนที่ชื่นชอบผลไม้รสเปรี้ยวจัด รวมถึงสตรีมีครรภ์ที่เกิดอาการแพ้ท้องด้วย
สรรพคุณทางยาของผลมะยมเป็นที่รู้จักกันดีว่า ช่วยให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ แก้ไอ บำรุงโลหิต ขับปัสสาวะ และเป็นยาระบายอ่อนๆ ส่วนอื่นๆ ของต้นมะยม อย่างดอก ใบ เปลือกลำต้น และราก ก็ยังนำมาใช้เป็นยาได้ โดยคนโบราณเชื่อกันว่าต้นมะยมตัวผู้ หรือต้นที่ออกดอกมาก แต่ไม่ติดผล จะมีฤทธิ์ทางยาสูงกว่าต้นตัวเมีย ยอดอ่อนใบมะยมนำมากินเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ใบใช้ปรุงเป็นยาเขียวช่วยถอนพิษไข้ แก้ตัวร้อน และลดอาการปวดหัว รากมะยมมีสารแทนนินค่อนข้างสูง นำมาต้มทาแก้ผดผื่นคันหรือโรคผิวหนังได้ แต่รากมะยมก็มีพิษ ใช้ผสมในอาหารเพื่อเบื่อสัตว์ใหญ่ให้เกิดอาการเมาหรืออาเจียนจึงควรระวังในการใช้และนำมาใช้ให้ถูกวิธี
ลักษณะของมะยม :
- ต้นมะยม เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 3 – 10 เมตร ลำต้น ตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณปลายยอด กิ่งก้านจะเปราะและแตกง่าย เปลือกต้นขรุขระสีเทาปนน้ำตาล
- ใบมะยม เป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงแบบสลับกันเป็น 2 แถว แต่ละก้านมีใบย่อย 20 – 30 คู่ ใบรูปขอบขนานกลมหรือค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนปลายใบแหลม ฐานใบกลมหรือมน ขอบใบเรียบ
- ดอกมะยม ออกเป็นช่อตามกิ่ง ดอกย่อยสีเหลืองอมน้ำตาลเรื่อๆ
- ผลมะยม เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาวแกมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดรูปร่างกลม แข็ง สีน้ำตาลอ่อน 1 เมล็ด