ขนุน จัดเป็นไม้มงคลที่คนไทยแต่โบราณนิยมปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้าน เพราะเชื่อว่าจะได้มีผู้คนเกื้อหนุนให้ชีวิตรุ่งเรือง ขนุนเป็นผลไม้ชนิดผลรวม คือในหนึ่งผลใหญ่จะมีหลายผลย่อย นับว่าเป็นผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด บางผลอาจหนักถึง 50 กิโลกรัม ลักษณะผลกลมยาว มีหนามทู่ขนาดเล็กอยู่รอบๆ ผล หากเปลือกเป็นรอยแผลหรือกรีดเปลือกออกจะมีน้ำยางเหนียวสีขาวขุ่นไหลเยิ้มออกมา เมื่อสุกเปลือกขนุนจะเปลี่ยนจากสีเขียวสดเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง เนื้อสีเหลืองข้างในจะส่งกลิ่นหอมแรง
ขนุน
ชื่ออื่น ๆ : ขนุน, ขะนู (ชอง-จันทบุรี), ขะเนอ (เขมร), ซีคึย, ปะหน่อย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), นะยวยซะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), นากอ (มลายู-ปัตตานี), เนน (ชาวบน-นครราชสีมา), มะหนุน (ภาคเหนือ,ภาคใต้), ล้าง,ลาน (ฉาน-เหนือ), หมักหมี้ (ตะวันออกเฉียงเหนือ), หมากกลาง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ : Jack Fruit Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus heterophyllus Lam.
ชื่อวงศ์ : MORACEAE
ประโยชน์จากขนุน
ขนุนนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ยังเป็นผลอ่อน ผลอ่อนของขนุนใช้กินเป็นผัก เช่น ลวกจิ้มน้ำพริกหรือทำตำขนุน แม้ขนุนจะมีคุณค่าทางอาหารน้อยกว่าผลสุก แต่ก็มีเส้นใยอาหารสูงและมีฤทธิ์ฝาดสมาน ช่วยรักษาอาการท้องเสียได้ เมื่อขนุนสุก เนื้อหุ้มเมล็ดหรือ “ยวง” จะมีสีเหลืองจัดหรือสีส้ม รสหวาน โดยมี “ซัง” เป็นเส้นๆ ห่อหุ้มโดยรอบ ซังจะเหนียวและมีรสไม่หวานเท่ายวง จึงไม่นิยมกินกัน ภายในยวงมีเมล็ดทรงกลมรี นำมาต้มกินเป็นของว่าง รสหวานมันเคี้ยวเพลิน มีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลังและขับน้ำนมในสตรีหลังคลอดบุตร ยวงขนุนสุกมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยในการย่อยอาหารและบำรุงกำลัง ส่วนเบตาแคโรทีนซึ่งเป็นรงควัตถุที่ทำให้ผักผลไม้มีสีแดง เหลือง ส้ม และวิตามินซี จะช่วยกันต้านอนุมูลอิสระและเพิ่มความแข็งแรงให้ระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังมีโพแทสเซียมช่วยลดระดับความดันโลหิตและบำรุงหัวใจ แต่ขนุนเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลค่อนข้างสูง โดยเนื้อขนุนสุก 100 กรัม มีน้ำตาลอยู่ 19.1 กรุม จึงไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
ในตำรายาไทยโบราณ มีการนำส่วนอื่นๆ ของขนุนมาใช้ประโยชน์ เช่น ใบสดมาตำละเอียดใช้พอกแผล ส่วนใบแห้งบดเป็นผงโรยแผลที่มีหนองเรื้อรัง น้ำยางสีขาวใช้ทาบริเวณแผลบวมอักเสบ แผลมีหนองเรื้อรัง หรือบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ รากไม้ขนุนใช้ต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย แก่นต้นขนุนใช้เป็นยาระบาย บำรุงกำลัง บำรุงเลือด บำรุงผิวพรรณ แก่นขนุนนี้ยังเป็นส่วนที่ให้สีเหลืองเข้มอมน้ำตาลที่เรียกว่า “สีกรัก” ใช้เป็นสีย้อมผ้าจีวรพระมาแต่โบราณ
ก่อนที่จะได้กินเนื้อขนุนหอมหวาน บางคนอาจยอมแพ้ตั้งแต่ตอนลงมือผ่า เคล็ดลับในการปอกขนุนไม่ให้ยางเหนียวเหนอะติดมีด คือให้ใช้น้ำมันพืชทาที่มีดก่อนลงมือผ่า แต่หากยังมียางติดอยู่ก็ให้นำมีดไปเผาไฟ แล้วใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เช็ดออกอีกรอบ แค่นี้ก็ลงมือผ่าขนุนได้โดยไม่มีข้อรำคาญใจอีกต่อไป
ลักษณะของขนุน :
- ต้นขนุน เป็นพรรณไม้ยืนต้น ลำต้นมีความสูงประมาณ 8-15 เมตร มียางขาวทั้งต้น
- ใบขนุน จะออกสวลับกัน และมีลักษณะกลมรียาวประมาณ 7-15 ซม. ตรงปลายใบของมันจะแหลมและสั้นฐานใบจะเรียว ใบอ่อนบางครั้งจะมีรอยเว้าเข้าลึก ๆ 2 รอย แบ่งใบออกเป็น 3 ส่วน หลังใบจะเรียบเป็นมัน เนื้อใบเหนียวคล้ายหนัง ก้านใบยาวประมาณ 1-2.5 ซม. ใบนั้นจะหลุดร่วงง่าย
- ดอกขนุน จะออกเป็นช่อ และช่อดอกตัวเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน ส่วนช่อดอกตัวผู้จะออกที่ปลายกิ่งหรือง่ามใบ เป็นแท่งยาวประมาณ 2.5 ซม. และมีกาบหุ้มช่อดอกอยู่ 2 กลีบ ดอกย่อยนั้นจะมีเกสรตัวผู้ 1 อัน ช่อดอกตัวเมียเป็นแท่งกลมยาวออกจากลำต้นและกิ่งก้านขนาดใหญ่
- เมล็ดขนุน (ผล) จะเป็นผลรวม มีลักษระกลมยาวประมาณ 25-60 ซมม. ขนาดใหญ่และอาจหนักถึง 20 กก. ส่วนเนื้อหุ้มเมล็ดอาจจะมีสีเหลือง ถ้าสุกจะมีกลิ่นหอม เปลือกนอก จะเป็นตุ่มหนามเล้ก ๆ รูปหกเหลี่ยม