ขมิ้น

ชื่อสมุนไพร : ขมิ้น
ชื่ออื่น ๆ
 : ขมิ้นชัน, ขมิ้น (ทั่วไป), ขมิ้นแกง, ขมิ้นหยอก, ขมิ้นหัว (เชียงใหม่), ขี้มิ้น, หมิ้น (ภาคใต้)
ชื่อสามัญ : Turmeric,Curcuma
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma Longa Linn
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขมิ้นชัน ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 30-95 ซม. มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า ประกอบด้วยแง่งที่มีลักษณะต่างๆ กันคือ แง่งแม่หรือแง่งหลักจะมีลักษณะกลม ซึ่งจะเป็นที่แตกของแขนงที่สองและสามต่อไป แขนงที่แตกออกมานี้ถ้ามีลักษณะกลมจะเรียกว่า หัว และถ้ามีลักษณะยาวคล้ายนิ้วมือจะเรียกว่า นิ้ว ซึ่งเป็นที่เกิดของรากฝอย เนื้อในหัวมีสีเหลืองอมส้มหรือสีเหลืองจำปาปนสีแสด และมีกลิ่นหอม ส่วนลำต้นเหนือดินคือกาบก้านใบที่เรียงซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม
  • ใบขมิ้นชัน เป็นใบเดี่ยว กลางใบสีแดงคล้ำ แทงออกจากเหง้าใต้ดิน ลักษณะใบรูปใบหอกยาวเรียว ปลายใบแหลม กว้าง 12-15 ซม. ยาว 30-40 ซม. มีเส้นกลางใบเห็นได้ชัดเจนทางด้านล่างของใบ ใบเรียงแบบสลับ และอยู่กันเป็นกลุ่ม
  • ดอกขมิ้นชัน จะออกเป็นช่อ ช่อดอกจะเกิดบนลำต้นที่มีใบหรือโผล่ขึ้นมาจากใจกลางของกลุ่มใบ ช่อดอกมีรูปร่างแบบทรงกระบอกหรือรูปกรวย ใบประดับมีสีเขียวอ่อนๆ หรือสีขาว กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ตรงปลายช่อดอกจะมีสีชมพูอ่อน จัดเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ กลีบรองกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ มีขน กลีบดอกมีขาว ตรงโคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว บานครั้งละ 3-4 ดอก
  • ผลขมิ้นชัน รูปกลมมี 3 พู

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เหง้าสดและแห้ง

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา : เก็บในช่วงอายุ 9 – 10 เดือน

รสและสรรพคุณยาไทย : รสฝาด กลิ่นหอม แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ขับลม แก้ท้องร่วง

วิธีใช้ ขมิ้น :

เหง้าขมิ้นใช้เป็นยารักษาอาการ ดังนี้

  1. อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และอาหารไม่ย่อย
    โดยล้างขมิ้นให้สะอาด (ไม่ต้องปอกเปลือก) หั่นเป็นชิ้นบางๆ ตากแดดจัดสัก 1 – 2 วัน บดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเมล็ดขนาดปลายนิ้วก้อย เก็บในขวดสะอาด กินครั้งละ 2 – 3 เม็ด วันละ 3 – 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน บางคนกินขมิ้นแล้วท้องเสีย ให้หยุดยาทันที
  2. ฝี แผลพุพองและแก้อาการแพ้อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย
    โดยเอาเหง้ายาวประมาณ 2 นิ้ว ฝนกับน้ำต้มสุกทาบริเวณที่เป็น วันละ 3 ครั้ง หรือใช้ผงขมิ้นโรยทาบริเวณที่มีอาการผื่นคันจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้
  3. แก้โรคกระเพาะอาหาร
    เหง้าสดตากแห้ง บดเป็นผงให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนหรือบรรจุแคปซูล รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
Scroll to top