ชื่อสมุนไพร : ผักบุ้งทะเล
ชื่ออื่นๆ : ผักบุ้งต้น, ผักบุ้งขน(ไทย), ผักบุ้งเล(ภาคใต้), ละบูเลาห์(มะลายู-นราธิวาส), หม่าอานเถิง(จีนกลาง)
ชื่อสามัญ : Goat’s Foot Creeper, Beach Morning Glory
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea pes-caprae ( L.) R.br.
ชื่อวงศ์ : Convolvulaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นผักบุ้งทะเล เป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน สามารถเลื้อยไปได้ยาวมาก ประมาณ 5-30 เมตร ลักษณะของลำต้นหรือเถากลมเป็นสีเขียวปนแดง หรือเป็นสีแดงอมม่วง ผิวเกลี้ยงลื่น ตามข้อจะมีรากฝอย ภายในกลวง ทั้งต้นและใบมียางสีขาว
- ใบผักบุ้งทะเล เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปกลม รูปไข่ รูปไต หรือรูปเกือกม้าม ปลายใบเว้าบุ๋มเข้าหากัน โคนใบสอบแคบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-11 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบมันเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบยาวมีสีแดง
- ดอกผักบุ้งทะเล ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มตามง่ามใบ ในช่อดอกจะมีดอกประมาณ 2-6 ดอก และจะทยอยบานทีละดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปปากแตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนปลายดอกบานเป็นรูปปากแตร มี5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกกลมรี แตกออกเป็นแฉก 5 แฉก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเป็นสีม่วงอมชมพู สีม่วงอมแดง สีชมพู หรือเป็นสีม่วง ผิวเกลี้ยง ด้านในของดอกส่วนโคนจะมีสีเข้มกว่าด้านนอก ส่วนกลีบดอกเลี้ยงเป็นสีเขียว
- ผลผักบุ้งทะเล ลักษณะของเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่มีเหลี่ยม คล้ายแคปซูล ผิวผลเรียบ พอผลแห้งจะแตกออกได้ มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดลักษณะกลม เป็นสีเหลือง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร มีขนสีน้ำตาลปกคลุม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบและเถาสด
รสและสรรพคุณยาไทย : ถอนพิษลมเพลมพัด (อาการบวมเปลี่ยนที่เป็นตามอวัยวะทั่วไป) ทาเป็นยาต้มอาบแก้คันตามผิวหนัง มีการบันทึกว่ายางมีพิษ รับประทานแล้วเมา คลื่นไส้วิงเวียน
วิธีการใช้ ผักบุ้งทะเล :
- รักษาอาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย (โดยเฉพาะพิษของแมงกะพรุน)
ใบและเถาสด นำมาทาได้โดยเอาใบและเถา 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาบริเวณที่บวมแดงบ่อย ๆ