ชื่อสมุนไพร : กระชาย
ชื่ออื่น ๆ : กระชายดำ, กะแอน, ขิงทราย(มหาสารคาม), จี๊ปู, ซีฟู, เปาซอเร๊าะ, เป๊าสี่ระแอน(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ละแอน(ภาคเหนือ), ว่านพระอาทิตย์(กรุงเทพฯ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.
ชื่อวงศ์ : ZINGLBERACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกระชาย เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ รากอวบ รูปทรงกระบอกหรือรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว กว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-10 ซม. ออกเป็นกระจุก ผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะตัว
- ใบกระชาย มี 2-7 ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี กว้าง 5-12 ซม. ยาว 12-50 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือแหลม ขอบเรียบ เส้นกลางใบ ก้านใบ และกาบใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูนเป็นสัน ก้านใบเรียบ ยาว 7-25 ซม. กาบใบสีชมพู ยาว 7-25 ซม. ระหว่างก้านใบและกาบใบมีลิ้นใบ
- ดอกกระชาย เป็นช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอดระหว่างกาบใบคู่ในสุด ยาวประมาณ 5 ซม. แต่ละดอกมีใบประดับ 2 ใบ สีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน รูปใบหอก กว้างประมาณ 8 มม. ยาว 3.5-4.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.7 ซม. ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 6 ซม. ปลายแยกเป็น 3 กลีบ รูปใบหอก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบใหญ่ 1 กลีบ กว้างประมาณ 7 มม. ยาวประมาณ 1.8 ซม. อีก 2 กลีบ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน แต่ 5 อัน เปลี่ยนไปมีลักษณะเหมือนกลีบดอก โดย 2 กลีบบนสีชมพู รูปไข่กลับ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 1.2 ซม. ยาวประมาณ 1.7 ซม. อีก 3 กลีบล่างสีชมพูติดกันเป็นกระพุ้ง กว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 2.7 ซม. ปลายแผ่กว้างประมาณ 2.5 ซม. มีสีชมพูหรือม่วงแดงเป็นเส้นๆ อยู่เกือบทั้งกลีบโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกระเปาะและปลายกลีบ มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 อัน ก้านชูอับเรณูหุ้มก้านเกสรเพศเมีย ผลแก่แตกเป็น 3 เสี่ยง เมล็ดค่อนข้างใหญ่
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เหง้าใต้ดิน
รสและสรรพคุณยาไทย : รสเผ็ดร้อนขม แก้ปวดมวนในท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อและบำรุงกำลัง
วิธีใช้ กระชาย :
- รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด
โดยนำเหง้าและรากประมาณครึ่งกำมือ (สดหนัก 5 – 10 กรัม แห้งหนัก 3 – 5 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มเวลา มีอาการ หรือปรุงเป็นอาหารรับประทาน