ความหมายและความสำคัญของการเตรียมความพร้อมการนวดแผนไทย
ความหมายของการนวด แยกได้ 4 ประการ คือ
- การนวด คือ การบรรเทาความไม่สบายในเบื้องต้นของมนุษย์
- การนวด คือ การสัมผัส โดยใช้ส่วนของร่างกาย กระทำการนวด หรืออุปกรณ์นวดกระทำต่อส่วนที่มีอาการเจ็บป่วย
- การนวด คือ การกระทำต่อความรู้สึก ช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดี มีความใกล้ชิดผูกพันเอื้ออาทรต่อกัน เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อบุคคลรอบข้าง
- การนวด คือ ศิลปะ
ผลของการนวดที่ดี มี 3 ประการ คือ
- ผลต่อจิตใจ – อารมณ์ เป็นการถ่ายทอดความปรารถนาดี ผ่านความรู้สึกสัมผัส
- ผลต่อความรู้สึก – กำลัง เป็นการกระทำโดยตรงต่อความรู้สึก ซึ่งถูกส่งโดยกระแสประสาทไปยังสมอง บังคับควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
- ผลต่ออวัยวะ – ร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายตัว อีกทั้งกระบวนการรักษาตนเอง ซ่อมแซมอวัยวะร่างกายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
การเตรียมความพร้อมการนวด คือ การจัดเตรียมองค์ประกอบของการนวด ได้แก่ ผู้นวด ผู้ถูกนวด สถานที่นวด และการจัดการให้พร้อมสำหรับทำการนวด
การเตรียมความพร้อมของผู้นวด
การเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายของผู้นวด
- ผู้นวดต้องดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้สมบูรณ์
- ผู้นวดต้องไม่ทำการนวดขณะที่มีอาการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ทั้งการสัมผัสและการหายใจ
- ผู้นวดจะต้องดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย หลังจากการสัมผัสหยิบจับสิ่งของหรืออาหาร
- ผู้นวดต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับสถานที่
การเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจของผู้นวด
- ผู้นวดต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการนวดหรืออาชีพนวด
- ผู้นวดต้องมีสภาพจิตใจที่ดีมีความปรารถนาดี
- ผู้นวดต้องทำการนวดอย่างมีสติ ระมัดระวัง
- ไม่ควรนวดในขณะที่มีอารมณ์ขุ่นมัว โกรธ หรือโศกเศร้า
- ผู้นวดควรดำรงตนให้ดี มีสติสัมปชัญญะ คิดดี คิดชอบ
- ผู้นวดควรยึดหลักอิทธิบาท 4
- ผู้นวดควรมีคุณธรรมและจรรยาบรรณในอาขีพ
การเตรียมพร้อมทางด้านความรู้ของผู้นวด
- ผู้นวดต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปร่าง ตำแหน่งที่ตั้งและการทำงานของอวัยวะร่างกายและรู้สาเหตุของความเจ็บป่วยของมนุษย์
- ผู้นวดต้องรู้หลักการนวดที่ดี
- ผู้นวดต้องรู้วิธีการนวดที่เหมาะสมและปลอดภัย
- ผู้นวดต้องรู้วิธีการค้นหาสาเหตุของความเจ็บป่วย
- ผู้นวดต้องรู้วิธีการบันทึกประวัติและขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ระเบียบเรียบร้อย โดยประวัติที่ต้องเกิดมีดังนี้ ประวัติส่วนตัวของผู้ถูกนวด ประวัติความเจ็บป่วย และประวัติการรักษา
- ผู้นวดต้องรู้วิธีปฏิบัติตนให้มีสุขภาพดี และสามารถนำความรู้มาถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นได้
- ผู้นวดต้องขยันหมั่นเพียรหาความรู้เพิ่มเติมให้เหมาะแก่กาลสมัย
- ผู้นวดต้องสอบถามผู้รู้กรณีที่มีข้อสงสัยในสิ่งที่ทำ
- ผู้นวดต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
การเตรียมพร้อมทางด้านทักษะของผู้นวด
- ต้องมีความเชี่ยวชาญชำนาญในการนวด
- ต้องสามารถซักประวัติและการตรวจร่างกาย
- สามารถตรวจร่างกายโดยการวินิจฉัยความรุนแรงของความเจ็บป่วยได้
- ต้องให้การดูแลผู้เจ็บป่วยหลังจากการนวดได้
การเตรียมความพร้อมของผู้ถูกนวด
การเตรียมความพร้อมของผู้ถูกนวดทางด้านร่างกาย
- ผู้ถูกนวดควรชำระร่างกายและผลัดเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้เหมาะสม
- การนวดจะให้ผลดี หากผู้ถูกนวดมีความพร้อมของร่างกายที่จะยอมรับการนวดนั้น โดยไม่มีอาการเจ็บป่วย ดังนี้
– มีอาการตัวร้อน เป็นไข้
– มีการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน)
– มีการติดเชื้อ เป็นหนอง
– กล้ามเนื้อฉีกขาดเนื่องจากการทำงานหนัก หรือออกกำลังกายหรืออุบัติเหตุ
– กระดูกหรือข้อต่อกระดูกแตก หัก เคลื่อน หลุด
– มีบาดแผลหรือแผลผ่าตัดที่ยังสมานไม่สนิท
– มีอาการเจ็บปวดที่นวดแล้วรู้สึกไม่ดีขึ้นหรือเจ็บปวดมากขึ้น - ผู้ถูกนวดต้องใช้ความระมัดระวังในการนวดเป็นพิเศษ ได้แก่
– สภาพร่างกายอ่อนแอ หรือมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีกำลัง
– เป็นลม หมดสติ
– มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคหอบหืด อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง
– ทารก เด็ก หญิงมีครรภ์ หญิงระหว่างมีประจำเดือน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย
การเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจของผู้ถูกนวด
- ผู้นวดควรอธิบายวิธีการนวดให้แก่ผู้นวด เพื่อได้เตรียมตัวเตรียมใจและผ่อนคลาย
- ถ้าหากผู้ถูกนวดมีความเครียด วิตกกังวล หรือไม่สบายใจ ผู้นวดควรให้เวลาแก่ผู้ถูกนวดสงบสติอารมณ์
การเตรียมความพร้อมของสถานที่นวด
การเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับสถานที่นวด มีแนวทาง 5 ด้าน คือ รูป (สถานที่) เสียง (ดนตรี) กลิ่น (บรรยากาศ) รส (น้ำสมุนไพรหรือน้ำผลไม้) และ สัมผัส (การนวด และการใช้สมุนไพร รวมไปถึงอุณหภูมิของอากาศ)
การเตรียมความพร้อมด้านการจัดการ
1.การเตรียมความพร้อมด้านสถานที่นวด
- ต้องคำนึงถึงทำเลที่ตั้ง
- เน้นการตกแต่งในรูปแบบธรรมชาติ
- รักษาความสะอาด กำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์
- คำนึงถึงความปลอดภัยของสถานที่
- จัดห้องสำหรับนวดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
- ห้องอาบน้ำและห้องสุขาแยกห้องสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย
- กำจัดสิ่งปฏิกูล
- จัดห้องพักสำหรับพนักงานแยกต่างหากจากสถานที่ให้บริการ
- จัดสถานที่เพื่อให้บริการนวดเพื่อสุขภาพหรือบำบัดรักษาโรค
2.การเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับนวด
- ต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาดอุปกรณ์และเครื่องมืออยู่เสมอ
- จัดเปลี่ยนผ้ารองนอนเมื่อให้บริการเสร็จสิ้นเป็นรายคน และทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติอต่อ
3.การเตรียมความพร้อมด้านพนักงานนวด
- ต้องศึกษาประวัติภูมิหลังด้านการศึกษา ประสบการณ์และความประพฤติ
- ควรรับพนักงานที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรและสถาบันที่ทางราชการรับรอง
- หมั่นอบรมสั่งสอน กิริยามารยาทในการให้บริการอยู่เสมอ
- ประเมินผลการทำงานของพนักงานนวดอาจใช้วิธีการสังเกต
- ควรให้รางวัลหรือชมเชยแก่พนักงานนวดที่ประพฤติปฏิบัติดี
- ส่งเสริมให้โอกาสแก่พนักงานนวดในการพัฒนาความรู้ความชำนาญ
- จัดเวลาทำงานให้เหมาะสม
- จัดให้มีสวัสดิการในการดูแลรักษาความเจ็บป่วย
4.การเตรียมความพร้อมด้านการจัดการเกี่ยวกับเอกสาร การเงินและประชาสัมพันธ์ โดยจัดทำทะเบียนข้อมูลประวัติของพนักงานนวด เก็บหลักฐานต่าง ๆ ได้แก่ บัตรประจำตัว เพื่อการสืบค้นในกรณีที่อาจมีปัญหาเกิดขึ้น หรือใช้ในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ