ทฤษฎีที่สำคัญในการนวดแผนไทย
กายของคนเรายาวไม่เกิน 1 วา (2 เมตร) หนาประมาณไม่เกิน 1 คืบ (12 นิ้ว) กว้างประมาณไม่เกิน 1 ศอก (1 เมตร) มีลมอันประจำในกายอยู่ลึกประมาณ 2 นิ้ว มีเส้นเอ็นเกี่ยวกระหวัดรัดร่างกายอยู่ประมาณ 72,000 เส้น แต่มีเส้นสำคัญที่เป็นประธานอยู่เพียง 10 เส้นเท่านั้น
สรุปเส้นประธานสิบ มีดังนี้
- เส้นอิทา ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องใต้สะดือ 2 นิ้ว เยื้องไปทางซ้าย 1 นิ้ว สิ้นสุดที่ริมจมูกซ้าย มีลมประจำเรียกว่า ลมจันทรกะลา
- เส้นปิงคลา ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องใต้สะดือ 2 นิ้ว เยื้องไปทางขวา 1 นิ้ว สิ้นสุดที่ริมจมูกขวา มีลมประจำเรียกว่า ลมสุญทะกะลา
- เส้นสุมนา ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องเหนือสะดือ 2 นิ้ว สิ้นสุดที่โคนลิ้น มีลมประจำเรียกว่า ลมชิวหาสดมภ์
- เส้นกาลทารี ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้อง แล้วแตกเป็น 4 เส้น สองเส้นบนเหนือสะดือ 1 นิ้ว สิ้นสุดที่นิ้วมือทั้งสิบ ส่วน 2 เส้นล่างใต้สะดือ 1 นิ้ว สิ้นสุดที่นิ้วเท้าทั้งสิบ
- เส้นสหัสรังสี ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องจากสะดือมาทางซ้ายมือ 3 นิ้ว สิ้นสุดที่ตาซ้าย เรียกว่า เส้นรากตาซ้าย
- เส้นทวารี ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องจากสะดือมาทางขวามือ 3 นิ้ว สิ้นสุดที่ตาขวา เรียกว่า เส้นรากตาขวา
- เส้นจันทภูสังหรือลาวุสัง ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องจากสะดือมาทางซ้าย 4 นิ้ว สิ้นสุดที่หูซ้าย เรียกว่า เส้นรากหูซ้าย
- เส้นรุชำ หรืออุรังกะ ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องจากสะดือมาทางขวามือ 4 นิ้ว สิ้นสุดที่หูขวา เรียกว่า เส้นรากหูขวา
- เส้นสุขุมัง หรือนันทะกะหวัด ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องใต้สะดือ 3 นิ้ว กดเยื้องซ้ายเล็กน้อย สิ้นสุดที่ทวารหนัก
- เส้นสิกขิณี หรือคิชฌะ ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องใต้สะดือ 3 นิ้ว กดเยื้องขวาเล็กน้อย สิ้นสุดที่ทวารเบา
ข้อบ่งชี้และข้อห้ามในการบรรเทาอาการและรักษาโรคด้วยการนวดแผนไทย
ข้อบ่งชี้ของอาการที่สามารถทำการนวดได้
- การบวม (ที่มิได้เกิดจากการอักเสบ) ใช้การคลึงเบา ๆ ไม่กดหรือบีบ เกิดจากการคั่งของเลือดและน้ำ หรือการอุดตันของท่อน้ำเหลือง
- กล้ามเนื้อลีบ ใช้การกด คลึง กระตุ้นกล้ามเนื้อได้
- แขน ขาชา ใช้การกด คลึง กระตุ้นกล้ามเนื้อได้
- มีเสมหะ ใช้การลูบ สับเบา ๆ เพื่อเคาะปอดขับเสมหะ
- ภาวะที่เกิดแผลเป็นที่ผิวหนัง กล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มข้อ ใช้ฝ่ามือนวดหรือปลายนิ้วคลึงเป็นวงกลม
- ข้อติดเนื่องจากไม่ได้ใช้งาน สามารถนวดเยื่อหุ้มข้อและกล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งเป็นตะคริว นวดกดจุดคลายกล้ามเนื้อ
- กรณีที่มีอาการเจ็บปวด ให้ลูบเบา ๆ ไม่กดหรือบิด
- ข้อแพลง บวม นวดกดคลึงเบา ๆ
- ท้องผูก นวดบริเวณท้องและกระเพาะปัสสาวะ เพื่อกระตุ้นการขับถ่าย
- ปวดศีรษะจากความเครียด สามารถนวดกดจุดรักษาได้
- ปวดเมื่อย นวดรักษาได้
ข้อห้ามมิให้ทำการนวด
- บริเวณที่มีบาดแผล จากการติดเชื้อ หรือยังไม่สมานสนิท
- บริเวณที่เป็นมะเร็ง
- บริเวณที่มีสีดำ เพราะเนื้อตายจากหลอดเลือดอุดตันหรือเลือดไปเลี้ยงน้อย
- บริเวณที่มีหลอดเลือดอักเสบ
- บริเวณที่มีโรคผิวหนัง
- บริเวณที่มีการอักเสบเป็นหนอง
- ขณะที่มีไข้
- บริเวณที่มีกระดูกหัก ข้อเคลื่อน
- บริเวณที่มีเลือดออก
- บริเวณที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- บริเวณที่เป็นฝี
- กรณีที่เป็นเบาหวาน ห้ามนวดกดรุนแรง หรือใช้เวลานานเกินไป
ข้อควรพิจารณาในการบรรเทาอาการและรักษาโรคด้วยการนวดแผนไทย
การบรรเทาอาการและรักษาโรคด้วยการนวดแผนไทย ผู้นวดควรมีความรอบรู้ ประกอบด้วย
- รู้เขา เช่น รู้อาการของผู้ถูกนวด
- รู้เรา เช่น รู้ว่าตนเองมีความรู้แค่ไหน มีสุขภาพดี มีมารยาท
- รู้รอบ เช่น รู้จุดอันตรายต่าง ๆ รู้จักจัดห้องนวดให้มีบรรยากาศดี ลมพัดสะดวก กลิ่นสะอาด มีเสียงเพลงเบา ๆ มีแสงสว่างพอควร
- รู้ประโยชน์สี่สถานของการนวด คือ
– ด้านการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต คลายการติดข้อที่ขัด ขจัดความเครียดของกล้ามเนื้อ และช่วยการทำงานของเนื้อเยื่อ
– ด้านการป้องกัน เพื่อป้องกันการปวดศีรษะ การมีเสมหะในหลอดลม ป้องกันการกดจมของแผล ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
– ด้านการรักษา เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การเคลื่อนไหวข้อไม่ติดขัด ขจัดความเจ็บปวด ช่วยลดการบวมน้ำ
– ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อความเมื่อยล้า ช่วยนำพาระบบไหลเวียน กล้ามเนื้อเปลี่ยนเป็นดี มีความเริงรื่นของจิตใจ
ข้อควรพิจารณาในการบรรเทาอาการและรักษาโรคด้วยการนวดแผนไทย
- ท่าทางและการนอนบนที่นอนที่เหมาะสม ไม่นุ่มเกินไป กระจายน้ำหนักได้ดี
- การวางมือและนิ้วลง วางมือที่สะอาด เล็บที่ตัดสั้นอาจใช้นิ้วบางนิ้ว ฝ่ามือหรือส้นมือลงบนผู้ถูกนวด
- จุดที่ตรงตำแหน่ง ตำแหน่งนวดที่สำคัญคือกล้ามเนื้อ ร่องระหว่างกล้ามเนื้อ
- แรงที่ใช้กด นวดจากเบาไปหนัก เจ็บพอทนได้
- เวลาที่กำหนดเป็นคาบ
- ควรจะทราบจุดก่อนหลัง
- ทั้งการนวดซ้ำแต่ละที
- อีกทั้งมีระยะถี่
- ต้องนวดที่ละกี่ครั้ง
- พร้อมทั้งคำแนะนำที่แยบยล
- มีการติดตามผลที่สัมฤทธิ์
- อย่างลืมคิดถึงข้อห้ามและข้อควรระวัง