ธาตุสมุฏฐาน เส้นประธานสิบและสัญญาณห้า

ธาตุสมุฏฐาน

ปัถวีธาตุ ประกอบด้วย อวัยวะ 18 อย่าง และอื่น ๆ อีก 2 อย่าง ได้แก่

  • เกศา (ผม) เมื่อพิการ เจ็บตามหนังศีรษะและผมร่วง ผมหงอก แห้ง แตกปลาย
  • โลมา (ขน) เมื่อพิการ เจ็บตามผิวหนังและขนร่วง
  • นขา (เล็บ) เมื่อพิการ ปวดที่โคนเล็บ
  • ทันตา (ฟัน) เมื่อพิการ ปวดตามรากฟัน แมงกินฟัน เป็นรำมะนาด
  • ตะโจ (หนัง เมื่อพิการ มีอาการคันตามผิวหนัง แสบร้อน เป็นโรคผิวหนัง
  • มังสัง (เนื้อ) เมื่อพิการ เสียวไปทั้งตัว มีฟกบวม
  • นหารู (เอ็น) เส้นและเอ็นในร่างกาย ได้แก่ เส้นประธาน 10 มีบริวาร 2700 เส้น เมื่อพิการ ให้เมื่อยให้เสียว แต่ถ้าเป็นเส้นอัมพฤกษ์ จะให้โทษถึง 11 ประการ
  • อัฐิ (กระดูก) เมื่อพิการ ให้เมื่อยในข้อในกระดูก
  • อัฐิมิญชัง (เยื่อในกระดูก) เมื่อพิการ เป็นเหน็บชา
  • วักกัง (ม้าม) เมื่อพิการ ทำให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว
  • หทยัง (หัวใจ) เมื่อพิการ ทำให้เสียอารมณ์ ใจน้อย ขี้โมโหง่าย
  • ยกนัง (ตับ) เมื่อพิการ ทำให้ตับหย่อน
  • กิโลมกัง (พังผืด) เมื่อพิการ อกแห้ง ให้กระหายน้ำ ให้อาเจียนจุกเสียด
  • ปิหกัง (ไต) เมื่อพิการ ขัดในอก แน่นอก ให้ท้องพอง อ่อนเพลีย ทำให้บวม
  • ปัปผาสัง (ปอด) เมื่อพิการ ทำให้กระหายน้ำ ร้อนในอก ให้หอบหนัก (กาฬขึ้นที่ปอด) ให้เจ็บปอด
  • อันตัง (ไส้ใหญ่) นับ 2 ตอน ตอนบนรวมกระเพาะอาหาร ตอนล่างต่อจากไส้น้อยไปทวารหนัก เมื่อพิการ ให้ลงเป็นกำลัง ให้แน่น ให้ไส้ตีบ ให้พะอืดพะอม ให้ท้องขึ้นท้องพอง ให้ปวดท้อง ให้ขัดอก
  • อันตคุนัง (ไส้น้อย) ไส้เล็กที่ขดต่อจากกระเพาะอาหาร ไม่ต่อกับไส้ใหญ่ตอนล่าง (บางตำราเรียกว่า สายรัดไส้) เมื่อพิการ ให้วิงเวียนหน้าตา ให้หาว ให้เรอ ให้จุกให้เสียด ให้เจ็บหลังเจ็บสะเอว ให้เสมหะขึ้นคอ ให้ร้อนคอร้อนท้องน้อย
  • อุทริยัง (อาหารใหม่) อาหารที่อยู่ในลำไส้ตอนบน ในกระเพาะอาหาร เมื่อพิการ ถ้าอิ่มทำให้ร้อนท้อง สะอึก ขัดยอก จุกเสียดตามชายโครง พะอืดพะอม
  • กรีสัง (อาหารเก่า) กากอาหารที่อยู่ในไส้ใหญ่ตอนล่างและตกไปทวารหนัก เมื่อพิการ ให้อุจจาระไม่ปกติ ธาตุเสีย ริดสีดวง
  • มัตถเกมัตถลุงคัง (มันในสมอง) เมื่อพิการ เจ็บในกระบาลศีรษะ ตามืด หูตึง ปากและจมูกเฟ็ดขึ้น ลิ้นกระด้าง

อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ)

  • ปิตตัง (น้ำดี) แบ่งเป็น 2 อย่าง พัทธปิตตะ (น้ำดีในฝัก) อพัทธปิตตะ (น้ำดีนอกฝัก) เมื่อพิการ พัทธปิตตะ ให้มีอาการคลุ้มคลั่งเป็นบ้า มักให้สะดุ้งตกใจให้หวาด อพัทธปิตตะ ทำให้ปวดศีรษะ ตัวร้อน สะท้านร้อนสะท้านหนาว ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง จับไข้
  • เสมหัง (น้ำเศลษ) แบ่งเป็น 3 อย่าง 1) ศอเสมหะ ในลำคอ 2) อุรเสมหะ ในหลอดลม 3) คูถเสมหะ ออกจากทวาร เมื่อพิการ ศอเสมหะ ทำให้เจ็บคอ คอแห้งเป็นหืด อุรเสมหะ ทำให้ผอมเหลือง เป็นดาน เป็นเถา ให้แสบในอก อกแห้ง คูถเสมหะ ให้ตกอุจจาระเป็นเสมหะ และโลหิต
  • ปุพโพ (น้ำหนอง) เมื่อพิการ ทำให้ไอ เบื่ออาหาร ให้รูปร่างซูปผอม มักไอเป็นเลือด กินอาหารไม่รู้จักรส มักเป็นฝีภายใน 7 ประการ
  • โลหิตตัง (เลือด) มี 2 อย่าง คือ โลหิตดำและแดง เมื่อพิการ เป็นไข้ตัวร้อน ให้คลั่งเพ้อ ปัสสาวะแดง เป็นเม็ดตามผิวหนัง เป็นปานดำ ปานแดงและกาฬโรค
  • เสโท (เหงื่อ) เมื่อพิการ ให้สวิงสวายให้ตัวเย็น อ่อนเพลีย อ่อนอกอ่อนใจ มักให้เชื่อมซึม ให้เหงื่อตกหนัก ให้ตัวขาวซีด
  • เมโท (มันข้น) เมื่อพิการ ผุดเป็นแผ่นตามผิวหนัง เป็นวง เป็นดวง ให้ปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนัง เป็นน้ำเหลืองไหล
  • อัสสุ (น้ำตา) เมื่อพิการ ตาเป็นผ้า ตาแฉะ น้ำตาไหล ตาเป็นต้อ ตามัว
  • วสา (มันเหลว) หยดมันและน้ำเหลืองในกาย เมื่อพิการ ให้ผิวเหลือง ตาเหลือง มือเท้าบวม
  • เขโฬ (น้ำลาย) เมื่อพิการ เจ็บคอ ให้ปากเปื่อยน้ำลายเหนียว เป็นเม็ดยอดในลิ้นในคอ
  • สิงฆานิกา (น้ำมูก) เมื่อพิการ ให้ปวดในสมอง ตามัว น้ำมูกตก
  • ลสิกา (น้ำมันไขข้อ) เมื่อพิการ ให้เจ็บปวดข้อ
  • มูตตัง (น้ำปัสสาวะ) เมื่อพิการ ปัสสาวะเป็นสีต่าง ๆ ปวดแสบตามลำท่อทางเดินปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ ขัดเบา เจ็บหัวหน่าว เป็นมุตกิด สันทฆาต

วาโยธาตุ

  • อุทธังคมาวาตา คือลมพัดขึ้นเบื้องบน ได้แก่ หาวเรอ เมื่อพิการ ให้มือเท้าขวักไขว่ ร้อน ท้องทุรนทุราย หาวเรอบ่อย เสมหะเฟ้อ
  • อโธคมาวาตา คือลมพัดลงเบื้องต่ำ ได้แก่ ผายลม เมื่อพิการ ให้ยกมือและเท้าไม่ไหว เมื่อย ขบไปทุกข้อ กระดูก
  • กุจฉิสยาวาตา คือลมสำหรับพัดอยู่ในท้อง แต่พัดนอกลำไส้ เมื่อพิการ ท้องลั่น ให้ดวงจิตสวิงสวาย เมื่อยขบทุกข้อ
  • โกฏฐาสยาวาตา คือลมสำหรับพัดในลำไส้และกระเพาะอาหาร เมื่อพิการ ให้ขัดในอก จุกเสียด อาเจียน เหม็นข้าว
  • อังคมังฆานุสาริวาตา คือลมสำหรับพัดทั่วสรีรกาย (โลหิตแต่ก่อนเรียกลม) เมื่อพิการ นัยน์ตาพร่า วิงเวียน เจ็บสองหน้าขา เจ็บตามกระดูกสันหลัง กินอาหารไม่ได้ ไม่รู้จักรส
  • อัสสาสปัสสาสวาตา (ลมหายใจ) เมื่อพิการ หายใจไม่สะดวก หายใจสั้นเข้า ๆ จนหายใจไม่ออก

เตโชธาตุ

  • สันตัปปัคคี คือไฟสำหรับอุ่นกาย เมื่อพิการ กายเย็นชืด
  • ปริทัยหัคคี คือไฟสำหรับทำให้ร้อนระส่ำระสาย ต้องอาบน้ำและพัด เมื่อพิการ มือเท้าเย็น เหงื่อตก ชีพจรไม่เดินตามปกติ
  • ชีรณัคคี คือไฟสำหรับเผาให้แก่คร่ำคร่า ทำให้ร่างกายเหี่ยวแห้งทรุดโทรม ทุพพลภาพ เมื่อพิการ ให้ผอมเหลือง ให้ครั่นตัว วิงเวียน หูหนัก ร้อนในอก เหม็นปาก หวานปากตัวเอง โลหิตออกจากปากจากจมูกจากหู กินอาหารไม่รู้จัก
  • ปริณามัคคี คือไฟสำหรับย่อยอาหาร ทำให้อาหารกลืนลงไปให้แหลก ละเอียด เมื่อพิการ ให้ขัดข้อมือข้อเท้าเป็นมองคร่อ คือปวดเป็นหวัด ไอ ปวดฝ่ามือเท้า ท้องแข็ง ผะอืดผะอม

เส้นประธานสิบ

เส้น หมายถึง หลอดเลือด เอ็น กล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มกระดูก พลังประสาท และพลังเลือดลม เส้นเอ็นทั่วร่างกายประมาณ 72,000 เส้น และมีเอ็น 10 เส้น เป็นประธาน
เส้นเอ็นประธาน 10 เส้นในร่างกายมนุษย์ที่มีต้นกำเนิดบริเวณรอบสะดือแล้วไปยังจุดสุดท้ายที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ
กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของเส้นสิบ
1 เส้นอิทา

  • แนวเส้นของพลังหรือผลการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและระบบประสาท ที่มาเลี้ยงบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย อวัยวะเพศและบริเวณขา ลมประจำเส้นคือ สมจันทรกะลา
  • จุดเริ่มต้นอยู่ห่างจากสะดือ ไปทางซ้ายมือประมาณ 2 นิ้วมือ แล่นลงไปที่หัวหน่าว และต้นขาเบื้องซ้ายด้านหน้า จนถึงเหนือหัวเข่า แล้วอ้อมไปทางซ้าย จดกึ่งกลางต้นขาด้านหลัง แล่นขึ้นบนผ่านกึ่งกลางแก้มก้นไปข้างกระดูกสันหลัง ขึ้นไปข้างกระดูกสันคอกระหวัดขึ้นไปบนศีรษะที่หน้าผาก ไปข้างสันจมูก มาประจำอยู่ที่ข้างจมูกซ้าย
  • อาการผิดปกติ ทำให้ปวดศีรษะอย่างมาก ตามืดมัว ปากเบี้ยว เจ็บสันหลัง บางครั้งมีกำเดาและลมระคน มีอาการเรียกลมปะกัง บางครั้งท้องมีอาการเรียกว่า ลมพะหิ โทษของเส้นอิทา เรียกว่า ลมจันทร์

2 เส้นปิงคลา

  • เป็นเส้นที่มีความคล้ายคลึงกับเส้นอิทา แต่อยู่คนละข้างของลำตัว หากเส้นอิทาและปิงคลาผิดปกติอาจเกิดอัมพาต ปากเบี้ยว ปวดศีรษะรุนแรง ลมประจำเส้น คือ ลมสูญทะกะลา

3 เส้นสุมนา (สุมะนา)

  • เป็นเส้นอยู่กลางลำตัว มีความสำคัญมากต่อบริเวณหัวใจ การทำงานของสมอง ระบบประสาทที่เป็นไขสันหลัง หลอดเลือดแดงใหญ่ กลุ่มประสาทที่อยู่กลางตัว ลมประจำเส้น คือ ลมชิวหาสดมภ์
  • จุดเริ่มอยู่เหนือสะดือประมาณ 3 นิ้ว อยู่กึ่งกลางระหว่างสะดือกับใต้บริเวณกระดูกอก แล่นขึ้นไปใต้กระดูกอก แล่นผ่านลำคอไปจรดโคนลิ้น
  • อาการผิดปกติ เกิดอาการทางจิต จิตคลุ้มคลั่ง ละเมอ นอนไม่หลับ ลิ้นไม่รู้รส มีผลทำให้เกิดอาการพูดไม่ออก (ลมชิวหาสดมภ์) เกิดอาการจุกอก เกิดเอ็นเป็นลำ (ลมดาลตะคุณ) เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ เส้นสุมนานี้สำคัญมาก โดยเฉพาะถ้าเกิดในวันอาทิตย์มีอันตรายถึงตาย

4 เส้นกาลทารี (กาละธารี, กาละทารี)

  • เป็นเส้นเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตและระบบประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณแขน ขา ท้อง ใช้รักษาอาการปวดที่ไหล่ แขนขา เอว
  • จุดเริ่มต้นที่กึ่งกลางท้อง แตกเป็น 4 เส้น สองเส้นบนเหนือสะดือ แล่นผ่านราวนมทั้งสองข้าง ถึงข้อมือทั้งสองข้าว แล้วไปที่นิ้วมือทั้งสิบ สองเส้นล่างใต้สะดือ 1 นิ้ว แล่นไปขาทั้งสองถึงข้อเท้าทั้งสองข้าง แล้วเลยไปที่นิ้วเท้าทั้งสิบ
  • อาการผิดปกติ มีอาการเย็นชาทั้งตัว ให้จับเย็น หนาวสะท้าน เกิดจากอาหารผิดสำแดง บางครั้งเกิดลมเรียกว่า ลมสหัสรังสี คือหมดสติไม่รู้ตัว

5 เส้นสหัสรังสี

  • เป็นเส้นเกี่ยวกับตาข้างซ้าย และจุดที่อยู่ใบหน้าและคอ เรียกว่า เส้นรากตาซ้าย
  • จุดเริ่มต้นอยู่ต่ำกว่าสะดือ 2 นิ้วมือ แล่นลงไปต้นขาด้านใน ไปตามหน้าแข้งด้านในจดปลายเท้าซ้ายด้านใน และกระหวัดมาทางหน้าแข้งด้านนอก ไปต้นขา และกระหวัดกลับทางต้นขาใกล้สะโพก ขึ้นไปตามชายโครงด้านหน้า ผ่านหัวนมไปใต้คางซ้าย ขึ้นไปยังนัยน์ตาข้างซ้าย
  • อาการผิดปกติ ลมจักขุนิวาตและอัคคะนิวารคุณ ทำให้เจ็บกระบอกตา วิงเวียน ลืมตาไม่ขึ้น สาเหตุอาจเกิดจากการกินของมัน หวานเกินไป มักเกิดในวันศุกร์

6 เส้นทวารี (ทุวารี)

  • เป็นเส้นเหมือนเส้นสหัสรังสี แต่เกี่ยวข้องกับตาข้างขวา รวมถึงคอและใบหน้า เรียกว่า เส้นรากตาขวา
  • อาการผิดปกติ ตาลืมไม่ขึ้น วิงเวียน ปวดตามาก ถ้ากำเริบ ปวดตาทั้งสองข้าง บางครั้งทำให้ตาพร่าไม่เห็น ถ้าเกิดบ่อย ๆ จะเกิดโรคปัตคาด เกิดจากรับประทานน้ำมันมะพร้าวอันมันหวานจัดบ่อย ๆ และมักเกิดในวันอังคาร

7 เส้นจันทภูสัง (เส้นลาวุสัง)

  • เป็นเส้นเกี่ยวข้องกับหู ส่วนใหญ่อยู่บริเวณคอ ประสาทและหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหู หลังหู ใต้หู ต่อมน้ำลาย มีผลต่อการเบื่อและเจริญอาหาร การนอน เรียกว่า เส้นรากหูซ้าย
  • จุดเริ่มต้นอยู่ข้างซ้ายของสะดือประมาณ 3 นิ้ว ลึกลงไปประมาณ 2 นิ้ว แล่นไปราวนมซ้าย ขึ้นผ่านก้านคอ แนบชิดก้านคอ ไปหลังหูเข้าไปในหูข้างซ้าย
  • อาการผิดปกติ หูตึง ลมออกหู เกิดลมชื่อ ลมคะพาหุ ทำให้มีอาการหูตึง มักเกิดโรคในวันพุธ เกิดจากการอาบน้ำมากเกินไป

8 เส้นรุชำ (รุทัง)

  • เป็นเส้นเหมือนเส้นจันทภูสัง แต่อยู่แนวด้านขวา เรียกว่า เส้นรากหูขวา
  • อาการผิดปกติ หูตึง ลมออกหู ปวดหู เกิดจากการชอบกินน้ำมะพร้าว

9 เส้นสุขุมัง (เส้นนันทะกะหวัด)

  • เป็นเส้นที่เกี่ยวกับระบบขับถ่ายอุจจาระเป็นส่วนใหญ่ เป็นเส้นบริเวณ ทวารหนัก ฝีเย็บ กระตุ้นประสาทวากัสที่เป็นประสาทสมองคู่ที่ 10 ที่ควบคุมการอาเจียน สะอึก สะอื้น การทำงานของกระบังลม หอบเหนื่อย อาการบวที่เกี่ยวกับไต และหัวใจ
  • จุดเริ่มต้นที่กึ่งกลางท้องใต้สะดือ 3 นิ้ว เยื้องไปซ้ายเล็กน้อย แล่นไปที่ทวารหนัก
  • อาการผิดปกติ ตึงบริเวณทวาร รับประทานอาหารเล็กน้อยรู้สึกอึดอัดแน่นท้อง มักเกิดวันอาทิตย์ เป็นผู้ที่กินอาหารมันจัด

10 เส้นสิกขินี (เส้นสิขินี เส้นคิชฌะ)

  • เป็นเส้นที่เกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะที่ประกอบด้วยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ จุดสำคัญที่อยู่บริเวณท้อง ท้องน้อย
  • จุดเริ่มต้นที่กึ่งกลางท้องใต้สะดือ 3 นิ้ว เยื้องไปขวาเล็กน้อย แล่นไปที่ทวารเบา
  • อาการผิดปกติ คือ ขัดเบา ปัสสาวะขุ่น เจ็บหัวหน่าว เกิดลมเรียกว่า ลมราทยักษ์ เกิดจากเอ็นขององคชาตร้าวหม่นหมอง เกิดเพราะน้ำกามถูกั้นไม่ตกออกเวลากำหนัด หรือหนองใน สำหรับสตรีเกิดจากปัญหาของโลหิตเกี่ยวกับมดลูก เจ็บท้องน้อย เจ็บสีข้างและเอว

สัญญาณห้า

  • จุดสัญญาณในการนวด หมายถึง จุดหรือตำแหน่งสำคัญของเส้นในร่างกายที่ทำให้มีการหมุนเวียนโลหิต ความร้อนและพลังประสาทไปเลี้ยงระบบข้อต่อ กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายที่อยู่ในการควบคุมของเส้นนั้น
  • สัญญาณ 5 เป็นจุดนวดตามสายการนวดแบบราชสำนัก เป็นจุดที่มีความสำคัญในการจ่ายกำลังของเลือด จ่ายพลังประสาท เพื่อไปกระตุ้นให้เกิดผลของการรักษาโรคต่าง ๆ จุดสัญญาณหลักมีอยู่เส้นละ 5 จุด เรียกว่า สัญญาณห้า มี 9 จุดดังนี้ 1)สัญญาณ 5 หลัง 2)สัญญาณ 5 ขาด้านนอก 3)สัญญาณ 5 ขาด้านใน 4)สัญญาณ 5 แขนด้านนอก 5)สัญญาณ 5 แขนด้านใน 6)สัญญาณ 5 หัวไหล่ 7)สัญญาณ 5 ท้อง 8)สัญญาณ 5 ศีรษะด้านหน้า 9)สัญญาณ 5 ศีรษะด้านหลัง

Scroll to top