กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของกระดูกและกล้ามเนื้อ
- กระดูก ในร่างกายคนเรามีกระดูก 206 ชิ้น แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กระดูกแกนตัวมี 80 ชิ้น (กะโหลกศีรษะ กระดูกสันอก กระดูกซี่โครง) และกระดูกรยางค์มี 126 ชิ้น (กระดูกไหล่ กระดูไหปลาร้า กระดูกสะบัก กระดูกต้นแขน กระดูกปลายแขน กระดูกข้อมือ กระดูกมือ กระดูกนิ้วมือ กระดูกสะโพกร่วมกับกระดูกกระเบนเหน็บเรียกว่ากระดูกเชิงกราน กระดูกต้นขา กระดูกแข้ง กระดูกน่อง กระดูกข้อเท้า กระดูกเท้า)
- กล้ามเนื้อ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ กล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อเรียบ และกล้ามเนื้อหัวใจ
- ผลของการนวดต่อกล้ามเนื้อ การนวดมีผลต่อผิวหนังที่อยู่ผิวนอกของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อภายใต้ผิวหนังเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้เซลล์ที่ตายแล้วบนผิวหนังหลุดลอกออกมา มีการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ช่วยรักษาแผลที่ผิวหนังและกล้ามเนื้อ ถ้านวดนานพอทำให้เนื้อเยื่อที่งอกขึ้นมาใหม่เป็นระเบียบและแข็งแรง นอกจากนี้ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายจากอาการล้าและช่วยรักษาความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ในรายที่กระดูกหัก ถ้าสามารถนวดได้โดยไม่ทำให้ปลายกระดูกเคลื่อนที่จะช่วยให้กระดูกติดกันเร็วขึ้น
กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของระบบประสาทและระบบไหลเวียนโลหิต
- ระบบประสาท แบ่งเป็น 2 ระบบได้แก่ ระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทรอบนอก
- การนวดมีผลต่อระบบประสาททั้งส่วนกลางและรอบนอก โดยทำให้เซลล์ประสาทในเส้นประสาทที่ถูกตัดขาดมีการสร้างเส้นประสาทส่วนปลายขึ้นมาใหม่ภายหลังการนวด และช่วยให้เกิดการออกกำลังกายของอวัยวะส่วนนั้น
- ระบบไหลเวียนโลหิต ประกอบด้วย หัวใจ หลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำ
- ผลของการนวดต่อระบบไหลเวียนโลหิต คือ ทำให้เลือดไหลไปข้างหน้าหรือเข้าสู่หัวใจ แล้วเลือดและน้ำเหลืองที่ตามมาจะไหลเวียนเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว ทำให้เนื้อเยื่อที่ต้องการการรักษาด้วยการนวดมีเลือดใหม่มาเลี้ยงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การนวดยังช่วยให้การไหลเวียนของน้ำเหลืองตามผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังดีขึ้น ช่วยให้เกิดการดูดซึมของเสียที่ช่องว่างระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อรอบหลอดเลือดดีขึ้น และช่วยรักษาอาการบวมได้ดี
กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของระบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการนวดไทย
- ระบบหายใจ การนวดแบบตบหรือสับทำให้เกิดการสั่นสะเทือนที่หน้าอก ทำให้เสมหะ หนองและเมือกหลุดออกจากหลอดลมส่วนปลายเคลื่อนเข้าสู่บริเวณที่จะกระตุ้นให้เกิดการไอ ทำให้สามารถขับเสมหะออกจากปอด
- ระบบทางเดินอาหาร การนวดมีผลกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เกิดการย่อยอาหารและการขับถ่ายอุจจาระดีขึ้น ลดอาการท้องผูกและช่วยให้เจริญอาหาร
- ระบบต่อมไร้ท่อ การนวดโดยการประคบสมุนไพรและการคลึง จะทำให้เซลล์ที่ตายหลุดลอกออกมา ช่วยให้ต่อมเหงื่อ ต่อมใต้ผิวหนังและรูขุมขนไม่อุดตัน บริเวณที่คลึงจะมีสีแดงขึ้นเนื่องจากมีการหมุนเวียนของกระแสโลหิตเพิ่มขึ้นและลดการคั่งของสารที่ทำให้ปวด การคลึงบนผิวหนังจะกระตุ้นเส้นประสาทใหญ่ ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน มาตอบสนองต่ออาการปวดลดลงและรู้สึกสบายตัว มีความสุข
- ระบบขับถ่าย มีอวัยวะที่สำคัญคือ ไต ซึ่งจะรักษาสมดุลของกรด-ด่างในร่างกายร่วมกับระบบหายใจ