คัมภีร์ฉันทศาสตร์ ว่าด้วยประเภทของไข้ต่างๆ
- ลักษณะของไข้ ซึ่งเมื่อเวลาจับและกำลังวัน จะบอกว่าไข้นั้นเป็นไข้ประเภทใด มี 3 สถาน คือ
1) ไข้เอกโทษ เริ่มจับ เวลาย่ำรุ่ง ถึง บ่าย 2 โมง แล้วไข้นั้นจะค่อยๆ คลายลง
2) ไข้ทุวันโทษ เริ่มจับ เวลาย่ำรุ่ง ถึง 2 ทุ่ม แล้วไข้นั้นจะค่อยๆ คลายลง
3) ไข้ตรีโทษ เริ่มจับ เวลาย่ำรุ่ง ถึงตี 2 แล้วต่อถึงรุ่งเช้าแล้วไข้นั้นจะค่อยๆ สร่างคลายลง
- ลักษณะของวันเวลาที่ไข้กำเริบ มี 4 สถาน คือ
1) กำเดา กำเริบ 4 วัน
2) เสมหะ กำเริบ 9 วัน
3) โลหิต กำเริบ 7 วัน
4) ลม กำเริบ 13 วัน
- กำลังของธาตุกำเริบ มี 4 สถาน คือ
1) ตติยะชวร คือ นับจาก วันเริ่มไข้ ไปถึงวันที่ 4 รวม 4 วัน
2) ตรุณชวร คือ นับจาก วันที่ 5 ไปถึงวันที่ 7 รวม 3 วัน
3) มัธยมชวร คือ นับจาก วันที่ 8 ไปถึงวันที่ 15 รวม 8 วัน
4) โบราณชวร คือ นับจาก วันที่ 16 ไปถึงวันที่ 17 รวม 2 วัน
ต่อไปจากนี้ ธาตุต่างๆ ได้พิการไปแล้วโดยไม่มีกำหนด วันเวลาว่านานเท่าไร ระยะนี้เราเรียกว่า จัตตุนันทชวร
ลักษณะไข้ กล่าวไว้ว่าแสดงโทษ ดังต่อไปนี้
- ไข้เอกโทษ มี 3 สถาน คือ
1) กำเดาสมุฏฐาน มีอาการจิตใจฟุ้งซ่าน ปวดหัว คลุ้มคลั่ง จิตหวั่นไหว ตัวร้อนจัด นัยน์ตาเหลือง แต่ปัสสาวะแดง อาเจียนมีสีเหลือง กระหายน้ำ ปากขม น้ำลายแห้ง ผิวแห้งแตกระแหง ผิวหน้าแดง ตัวเหลือง กลางคืนนอนไม่หลับ เวลาจับ จิตใจมักเคลิ้มหลงใหล น้ำตาไหล
2) เสมหะสมุฏฐาน มีอาการหนาวมาก? ขนลุกชันทั่วตัว จุกในอก แสยงขน กินอาหารไม่ได้ ปากหวาน ฝ่ามือฝ่าเท้าขาว อุจจาระปัสสาวะก็ขาวด้วย อาเจียน และเบื่อ เหม็นอาหาร จับสะท้านหนาว
3) โลหิตสมุฏฐาน (ไข้เพื่อโลหิต) มีอาการตัวร้อนจัด ปวดหัว กระหายน้ำ เจ็บตามเนื้อตามตัว ปัสสาวะเหลือง ผิวตัวแดง ฟันแห้ง ลิ้นคางแข็ง ปากแห้งน้ำลายเหนียว - ไข้ทุวันโทษ มี 4 สถาน คือ
1) ทุวันโทษ ลม และกำเดา มีอาการจับหนาวสะท้าน ตัวร้อนจัด กระหายน้ำ เหงื่อตก จิตใจระส่ำระสาย วิงเวียน ปวดหัวมาก
2) ทุวันโทษ กำเดา และเสมหะ มีอาการหนาวสะท้าน แสยงขน จุกแน่นในอก หายใจขัดไม่สะดวก เหงื่อตก ปวดหัว ตัวร้อน
3) ทุวันโทษ ลม และเสมหะ มีอาการหนาว ต่อมาจะรู้สึกร้อน (ร้อนๆ หนาวๆ) วิงเวียน เหงื่อไหล ปวดหัว นัยน์ตามัว ไม่ยอมกินอาหาร
4) ทุวันโทษ กำเดา และโลหิต มีอาการนอนไม่หลับตอนกลางคืน แต่พอหลับตามักจะเพ้อ ปวดหัวมาก จิตใจกระวนกระวาย ร้อนในกระหายน้ำ เบื่ออาหารไม่ยอมกิน - ไข้ตรีโทษ มี 3 สถาน คือ
1) ตรีโทษ เสมหะ กำเดา และลม มีอาการเจ็บตามข้อทั่วทั้งลำตัว ร้อนใน กระหายน้ำ จิตใจระส่ำระสาย เหงื่อไหลโทรมทั่วตัว ง่วงนอนมาก
2) ตรีโทษ กำเดา โลหิต และลม มีอาการปวดเมื่อยทั้งตัว ปวดหัวมากที่สุด เกิดวิงเวียนหนักหัว หนาวสะท้าน ไม่ใคร่รู้สึกตัว เหม็นเบื่ออาหาร เชื่อมซึม ง่วงนอน
3) ตรีโทษ โลหิต เสมหะ และกำเดา มีอาการเร่าร้อน กระหายน้ำ กลางคืนหลับไม่สนิท จิตใจระส่ำระสาย เหงื่อตก หน้าเหลือง อาเจียนเป็นสีเหลืองมีโลหิต นัยน์ตาแดงจัด อนึ่ง ถ้าหากกำเดา เสมหะ โลหิต และลม 4 ประการนี้รวมกันให้โทษ 4 อย่าง คือ
1. ตัวแข็ง
2. หายใจขัด
3. ชักคางแข็ง
4. ลิ้นแข็ง
ท่านเรียกโทษนี้ว่า มรณชวร หรือ ตรีทูต
กำเนิดไข้โดยรู้จากอาการของไข้นั้นๆ ที่แสดงให้เห็น เช่น
- ไข้สันนิบาต มี 3 ลักษณะ คือ
1) ไข้ใดให้มีอาการตัวร้อน กระหายน้ำ หมดแรง ปากแตกระแหง นัยน์ตาแดง เจ็บไปทั่วตัว ชอบอยู่ในที่เย็นๆ
2) ไข้ใดให้มีอาการตัวเย็น ชอบนอน เบื่ออาหาร เจ็บในคอ และลูกตา นัยน์ตาแดงจัด เจ็บหูทั้งซ้ายขวา เจ็บปวดตามร่างกาย กระหายน้ำ นอนไม่หลับ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก คลื่นไส้อาเจียนเป็นสีเหลือง
3) ไข้ใดให้มีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดหัว ปวดฟัน เจ็บในคอ ขัดหน้าอก กระหายน้ำมาก ไม่มีแรง อ่อนเพลีย ปัสสาวะ และอุจจาระไม่ใคร่ออก - ไข้สันนิบาตโลหิต
คือ ไข้ใดให้มีอาการเจ็บที่สะดือแล้วลามขึ้นไปข้างบน วิงเวียน หน้ามืด เจ็บที่ท้ายทอย (กำด้น) ขึ้นไปถึงกระหม่อม สะบัดร้อนสะบัดหนาว ท้องอืดแน่น อาการเช่นนี้ท่านว่าเป็น สันนิบาตโลหิต
- ไข้สันนิบาตปะกัง
คือ ไข้ใดให้เห็นมีเม็ดสีแดงผุดทั่วตัว มีอาการปวดหัวเมื่อตอนพระอาทิตย์ขึ้น ไข้นี้เรียกว่า ไข้สันนิบาตปะกัง - ไข้ตรีโทษ
คือ ไข้ใดเมื่อพิศดูรูปร่างแล้ว มีลายตามตัว มีอาการเพ้อละเมอไป ผู้อื่นพูดด้วยไม่ได้ยินเสียง (หูอื้อ) เรียกว่า ไข้ตรีโทษ - ไข้ที่เกิดจากลม และเสมหะระคนกัน
คือ ไข้ใดมีอาการหนาวสะท้าน เกียจคร้าน วิงเวียน ปวดหัว แสยงขน กระหายน้ำ เจ็บบริเวณเอว และท้องน้อย ในปากคอ และน้ำลายแห้ง นอนหลับมักลืมตา ทั้งนี้เพราะลม และเสมหะระคนกัน - ไข้ที่เกิดจากเสมหะ และดีระคนกัน
คือ ไข้ใดให้มีอาการหน้าแดง ผิวหน้าแห้ง กระหายน้ำ นอนไม่หลับ อาเจียน และปัสสาวะออกมามีสีเหลือง มักหมดสติไป ไข้นี้ท่านว่า เสมหะระคนกับดี - ไข้ที่เกิดจากลม และกำเดา
คือ ไข้ใดให้มีอาการท้องขึ้น วิงเวียน สะอึก และอาเจียน ไข้นี้เป็นโทษลม และกำเดากระทำ - ไข้ที่เกิดจากเลือดลม และน้ำเหลือง
คือ ไข้ใดที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนแต่น้ำลาย ไข้นี้ท่านว่า เลือดลมและน้ำเหลืองเข้ามาระคนกัน - ไข้เพื่อ (เพราะ) ดี
คือ ไข้ใดให้มีอาการขมในปาก เจ็บหัว นอนมาก และเจ็บตามตัว โทษนี้เกิดจากเป็นไข้เพื่อ (เพราะ) ดี - ไข้เพื่อ (เพราะ) กำเดา
คือ ไข้ใดให้มีอาการปวดหัว อาเจียน นอนไม่หลับ กระหายน้ำ เจ็บในปากและในคอ หรือไข้ใดให้มีอาการเจ็บนัยน์ตา หัวร้อนดังกระไอควันไฟท่านว่ากำเดาให้โทษ - ไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิต
คือ ไข้ใดให้มีอาการเจ็บแต่ฝ่าเท้า และร้อนขึ้นไปทั่วตัวให้เร่งรักษาแต่ภายในกลางคืนนั้นอย่าให้ทันถึงรุ่งเช้าจะมีอันตราย มีอาการเจ็บมากที่หน้าผาก จิตใจกระวนกระวาย ท่านว่า เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิต - ไข้เพื่อ (เพราะ) เสมหะ
คือ ไข้ใดให้มีอาการนอนฝัน เพ้อ น้ำลายมากในปาก มือ และเท้าเย็น อยากกินอาหารคาวหวาน มือและเท้ายกไม่ขึ้น สะบัดร้อนสะบัดหนาว โทษนี้เสมหะกระทำ - ไข้เพื่อ (เพราะ) ลม คือ
1) ไข้ใดให้มีอาการ ขมในปาก อยากกินแต่ของแสลง เนื้อสั่นระริก และเสียวทั้งตัว เจ็บไปทั้งตัว จุกเสียด หรือ
2) ไข้ใดให้มีอาการหนาวสะท้าน บิดขี้เกียจ ยอกเสียดในอก ท่านว่าเป็นไข้เพื่อ (เพราะ) วาตะ (ลม) หรือ
3) ไข้ใดให้มีอาการหนาวสะท้าน อาเจียน แสยงขน ปากหวาน เจ็บไปทั่วตัว อยากนอนตลอดเวลา เบื่ออาหาร หรือ
4) ไข้ใดให้มีอาการสะอึก อาเจียน และร้อนรุ่มกลุ้มใจ ท่านว่าเป็นไข้เพื่อ เพราะ) ลม
5) ไข้ใดให้หมอดูร่างกายเศร้าดำไม่มีราศี ไอ กระหายน้ำ ฝาดปาก เจ็บอก หายใจขัด เพราะในท้องมีก้อนๆ ทั้งนี้เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) ลม - ไข้เพื่อ (เพราะ) กำเดา
คือ ไข้ใดให้มีอาการเจ็บตามผิวหนัง ปัสสาวะเหลือง ร้อนใน กระวนกระวาย ชอบอยู่ที่เย็น นัยน์ตาแดง ลงท้อง กระหายน้ำ ทั้งนี้เป็นไข้เพื่อ เพราะ) กำเดา - ไข้สำประชวร
คือ ผู้ใดมีอาการเป็นไข้เรื้อรังมาเป็นเวลานานๆ รักษาไม่หาย ทำให้ร่างกายซูบผอมไม่มีแรง เบื่ออาหาร ไข้นี้จะเนื่องมาจากไข้เพื่อเสมหะ โลหิต ดี กำเดาหรือลม เป็นเหตุก็ตาม ให้แพทย์สังเกตดูที่นัยน์ตาของคนไข้จะรู้ได้ว่า คนไข้นั้นเป็นไข้เพื่อ (เพราะ) อะไร ซึ่งมี 5 ประการด้วยกัน คือ
1) ไข้เพื่อ (เพราะ) กำเดา มีอาการปวดหัวตัวร้อน สะท้านร้อนสะท้านหนาว ไม่มีน้ำตา ปากคอแห้งกระหายน้ำนัยน์ตาแดงดังโลหิต
2) ไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิต มีอาการปวดหัวตัวร้อน หน้าแดงนัยน์ตาแดง มีน้ำตาคลอ นัยน์ตาแดงดังโลหิต
3) ไข้เพื่อ (เพราะ) เสมหะ มีอาการหนาว แสยงขน ขนลุกทั้งตัว หรือไม่ร้อนมาก นัยน์ตาเหลืองดังขมิ้น
4) ไข้เพื่อ (เพราะ) ดี มีอาการตัวร้อน เพ้อคลั่ง ปวดหัว กระหายน้ำ ขอบนัยน์ตาสีเขียวเป็นแว่น
5) ไข้เพื่อ (เพราะ) ลม มีอาการวิงเวียน หน้ามืด ตัวไม่ร้อน นัยน์ตาขุ่นคล้ำ และมัว อีกพวกหนึ่งนัยน์ตาไม่สู้แดงนัก (แดงเรื่อๆ) ถ้าเป็นกับชาย เกิดจากเส้นอัมพฤกษ์ ถ้าเป็นกับหญิง เกิดจากเส้นปัตคาด - ไข้เพื่อลม และเสมหะ
คือ ไข้ใดให้มีอาการปวดหัวมาก ไอ หาวนอน บิดตัวเกียจคร้าน เหงื่อไหล ทั้งนี้เป็นเพราะถูกลมเสมหะมาทับระคน - ไข้เพื่อเสมหะ และกำเดา
คือ ไข้ใดให้มีการซึมมัว กระหายน้ำ ขมปาก ท้องร้อง เจ็บตามตัว เหงื่อไหล ไอ ตัวไม่ร้อน เป็นปกติ ทั้งนี้เป็นเพราะเสมหะ และกำเดา - ไข้ตรีโทษ
คือ มีโทษ 3 ประการ คือ เจ็บไปทั่วตัว นอนไม่หลับ และเบื่ออาหาร อาการ 3 ประการนี้ จะเกิดขึ้นในขณะอยู่ในทุวันโทษ ซึ่งแพทย์พอรักษาได้ - ไข้สันนิบาต
คือ ไข้ใดให้มีอาการไอแห้ง หอบมีเสมหะในคอ เล็บมือ และเล็บเท้าเขียว นัยน์ตาสีเขียว มีกลิ่นตัวสาบดังกลิ่นสุนัข,แพะ,แร้ง หรือนกกา โกรธง่าย เรียกว่าไข้สันนิบาต มักถึงที่ตาย - ลักษณะไข้แห่งปถวีธาตุ
คือ ไข้ใดเมื่อล้มไข้ลงได้ 1-2 วัน ให้มีอาการเชื่อมมัว หมดสติ ไม่ถ่ายอุจจาระ ถ่ายยาก็ไม่ออก ไม่กินอาหาร แต่อาเจียนออกมาก ถ้าอาการเหล่านี้ยืนนานไปถึง 10-11 วัน ท่านว่าตายเพราะเป็นลักษณะแห่งปถวีธาตุ - ลักษณะไข้แห่งวาโยธาตุ
คือ ไข้ใดเมื่อล้มไข้ลงได้ 3-4 วัน ให้มีอาการนอนสะดุ้ง หมดสติ เพ้อ เรอ อาเจียนแต่น้ำลาย มือ และเท้าเย็น โรคนี้ตาย 2 ส่วน ไม่ตาย 1 ส่วน ทั้งนี้เป็นโทษแห่งวาโยธาตุ ถ้าแก้มือเท้าเย็นให้ร้อนไม่ได้ อาการจะทรงเรื้อรังไปถึง 9 -10 วัน จะตายอย่างแน่แท้ - ลักษณะไข้แห่งอาโปธาตุ
คือ ไข้ใดเมื่อล้มไข้ลงได้ 4 วัน มีอาการท้องเดิน บางทีมีเสมหะ และโลหิตตามช่องทวารทั้งหนักและเบา บางทีอาเจียนเป็นโลหิต ไข้ใดเป็นดังนี้ เป็นเพราะอาโปธาตุบันดาลให้เป็นไป ถ้ารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นอยู่เป็นเวลา 8-9 วัน ต้องตายแน่นอน - ลักษณะไข้แห่งเตโชธาตุ
คือ ไข้ใดเมื่อล้มไข้ลงได้ 3-4 วัน มีอาการร้อนไปทั้งตัว ทั้งภายนอก ภายในทุรนทุรายหัวใจสับสน ต้องใช้น้ำเช็ดตัวไว้เสมอ ลิ้นแห้ง คอแห้ง แห้งในอก กระหายน้ำ คลั่งไคล้ หมดสติไปให้เจ็บโน่นเจ็บนี่ทั่วร่างกาย คล้ายคนมีมารยา อยากกินของแสลง ดุจผีปอบ (ฉะมบปอบ) อยู่ภายใน โทษนี้คือโทษแห่งเตโชธาตุ ถ้าแก้ความร้อนไม่ตก และอาการยืนอยู่ต่อไป 7-8 วันต้องตายแน่
ต่อไปนี้ขอให้แพทย์ให้จำไว้ให้แม่นยำว่า ไข้เอกโทษ ทุวันโทษ และไข้ตรีโทษนั้น ถ้ามีการทับสลับกัน ทำให้มีอาการผิดแปลกไปดังต่อไปนี้
- ลมเป็นเอกโทษ มักจะเกิดกับบุคคลอายุ 50 ปีขึ้นไปในฤดูวัสสานฤดู เริ่มแต่หัวค่ำให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว ปากคอ เพดานแห้ง เจ็บไปทุกเส้นเอ็นทั่วตัว (ปวดเมื่อย) เป็นพรรดึก นอนไม่หลับ จับแต่หัวค่ำ และจะค่อยๆ คลายลงภายใน 4 นาที เรียกว่า เอกโทษลม
ถ้าไข้นั้นไม่คลายไปจนถึงเที่ยงคืนก็จะเข้าเป็นทุวันโทษ เกิดเป็นเสมหะกับลม และถ้าไข้นั้นยังไม่คลาย จับต่อไปถึงย่ำรุ่งตลอดไปถึงเที่ยงคืน เรียกว่า ตรีโทษประชุมกันเป็นสันนิบาต
ท่านว่า ถ้าลมเป็นเอกโทษ พ้น 7 วัน จึงวางยา ถ้าไม่ถึง 7 วัน ไข้นั้นกำเริบ คือ ไข้ยังจับต่อไปอีก ให้แพทย์รีบวางยา - ดีเป็นเอกโทษ มักเกิดกับบุคคลอายุ 30-40 ปี ไข้จะเกิดในคิมหันตฤดู เริ่มแต่เที่ยงวัน มีอาการตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ กระวนกระวายใจ มึนซึม ในคอมีเสมหะ อุจจาระ ปัสสาวะมีสีเหลืองปนแดง เหงื่อไหล เรียกว่าเอกโทษดี จับแต่เที่ยงไป 5 นาทีก็จะคลาย
ถ้าดีเป็นเอกโทษจับไข้ยังไม่คลาย จับไปจนถึงค่ำก็เข้าเป็นทุวันโทษ เกิดเป็นลมระคนดี
ถ้าไข้นั้นยังไม่คลายลงจนถึงเที่ยงคืน และจับต่อไปจนรุ่งเช้า ท่านว่าเป็นสันนิบาตตรีโทษ ให้รีบวางยา ท่านว่าถ้าจับเอกโทษดี เริ่มจับแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป 4-5 นาที ก็จะสร่างคลาย กำหนด 9 วัน จึงวางยา - เสมหะเอกโทษ มักเกิดกับบุคคลอายุ 15 ปี ในเหมันตฤดูเริ่มจับแต่เช้าตรู่ตอนไก่ขัน มีอาการร้อนข้างนอกกาย แต่ภายในหนาว แสยงขน ไอ คอตีบตื้น กินอาหารไม่ลง เชื่อมมัว ปากหวาน นัยน์ตาขาว อุจจาระปัสสาวะขาว ไข้จับแต่เช้าตรู่ไป 5 นาที เรียกว่า เสมหะเอกโทษ
ถ้าไข้ยังไม่สร่างคลายไปจนถึงเที่ยงวันจนถึงบ่าย 5 นาที ดีจะมาระคนกับเสมหะ และถ้าไข้ยังจับต่อไปอีกจนถึงเย็นค่ำ และต่อไป เป็นสันนิบาตตรีโทษ
- ทุวันโทษเสมหะ และดี เกิดกับบุคคลอายุอยู่ในปฐมวัย คือ ภายใน 16 ปี เป็นไข้ในคิมหันตฤดู มีเสมหะเป็นต้นไข้ และดีเข้ามาระคนเป็น 2 สถาน ทำให้มีอาการสะท้านร้อนสะท้านหนาว ในปาก และคอเป็นเมือก กระหายน้ำ หอบ ไอ เชื่อมมัว ตัวหนัก ไข้เริ่มจับแต่เช้าตรู่ จะสร่างคลายตอนบ่ายโมง 3 นาที
- ทุวันโทษดี และลม เกิดกับบุคคลอายุ 30-40 ปี วสันตฤดู มีดีเป็นต้นไข้ เริ่มจับตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึง เย็นค่ำจึงจะสร่างคลาย มีอาการเชื่อมมัว ปวดเมื่อยตามข้อ หาว อาเจียน ปาก และคอแห้ง ขนลุกขนพอง มักสะดุ้ง ตัวร้อน ทั้งนี้เป็นเพราะลมเข้าระคนเป็น ทุวันโทษ
- ทุวันโทษลม และเสมหะ เกิดกับบุคคลอายุ 40-50 ปี เหมันตฤดู มีอาการหนักตัว ไอ ปวดหัว เมื่อยตามมือและเท้า มีลมเป็นต้นไข้ เริ่มจับแต่ตอนค่ำไปจนถึงรุ่งเช้าจะสร่างคลายลง มีอาการร้อนรนภายใน เหงื่อไม่มี ข้างนอกเย็น ทั้งนี้เป็นเพราะลม และเสมหะระคนกันเป็น ทุวันโทษ
ได้กล่าวถึงเอกโทษ และทุวันโทษแล้วตามลำดับมา ถ้าไข้นั้นยังมิสร่างคลายจับเรื่อยตลอดมา จะเป็นโทษ 3 ระคนกันเข้าเป็นโทษสันนิบาต
สันนิบาตจะเกิดระหว่างฤดู 3 หรือ ฤดู 6 ให้กำหนดในตอนเช้าเป็นต้นไข้กำเริบเรื่อยไปจนถึงเย็น และเที่ยงคืน ท่านว่าไข้นั้นตกถึงสันนิบาต มีอาการสะท้านร้อนสะท้านหนาว เคืองนัยน์ตา น้ำตาไหล เจ็บปวดตามข้อและกระดูกไปจนถึงสมอง เหงื่อออกมาก นัยน์ตาเหลือง บางทีแดง นัยน์ตาถลนมองดูสิ่งใดไม่ชัด ดูดังคนบ้า หูปวดและตึง คันเพดาน หอบ และหายใจสะอื้น ลิ้นปากเป็นเม็ดเน่าเหม็น ลิ้นบวมดำ เจ็บในอก หัวสั่น เวลาหลับตาแต่ใจไม่หลับ ลุกนั่งไม่ไหว พูดพึมพำ อุจจาระบางทีเขียว บางทีดำ กะปริดกะปรอย รอบๆ ข้อมือมีเส้นมีลายสีเขียว สีแดง ถ้าเส้นสีเขียวมีตามตัว ท้องขึ้นผะอืดผะอมมีลมในท้อง ท่านว่าธาตุไฟทั้ง 4 นั้นดับสิ้นจากกาย
ถ้าผู้ใดป่วยเข้าขั้นสันนิบาต มีอาการบวมที่ต้นหู จะตายใน 7 วัน ถ้าบวมที่นัยน์ตาจะตายภายใน 5 วัน ถ้าบวมที่ปากจะตายภายใน 7 วัน
จงจำไว้ว่า ถ้าทุวันโทษลม และเสมหะ อันใดอันหนึ่งจะกล้าหรือจะหย่อน เราจะรู้ได้จากอาการ คือ
- ถ้าลมกล้าจะมีอาการท้องผูกปวดเมื่อยตามข้อ ปวดหัว หมดแรง
- ถ้าเสมหะกล้า จะมีอาการเป็นหวัด ไอ ลุกนั่งไม่สะดวก หนักตัว
- ถ้าดีกล้า จะจับแต่เที่ยงไปถึงบ่าย และไข้จะค่อยคลายหายไป
- ถ้ามีอาการเชื่อมมัว อาเจียน คลื่นไส้ แสดงว่าดีมีกำลังกล้า
- ถ้ามีไข้แต่เช้ามืดถึง 3 โมง เชื่อมมัว ตึงตามตัว ตัวหนัก จะนอนไม่ใคร่หลับสนิท ไอ คือ เสมหะให้โทษกล้ากว่าดี ทุวันโทษดี และลม
- ถ้าลมกล้า จะมีอาการจับไข้แต่บ่าย 3 โมง มีอาการเชื่อมมัว หาวเป็นคราวๆ นอนไม่หลับ จึงถึงเวลาพลบค่ำจึงสร่างคลาย คนไข้จะหลับสนิท ถ้าดีมีกำลังกล้า จะเริ่มจับไข้แต่เที่ยงไป จะมีอาการซวนเซเมื่อลุกนั่งหรือยืน ตัวร้อน อาการนี้จะมีไปถึงบ่าย 5 นาทีจะสร่างคลาย
- สันนิบาต มี 3 สถาน คือ ดี เสมหะ และลม
- ทุวันโทษ ดี และเสมหะ มีลมมาแทรกทำให้แรงขึ้น คือ ตั้งแต่บ่าย 5 นาทีถึงสามยาม มีอาการเชื่อมมัว มึนตึงตามตัว หลับหรือตื่นไม่รู้สึกตัว มักนอนสะดุ้ง หูตึง ทั้งนี้เพราะลมมีกำลังกล้ามันจะพัดไปตามหู ตา และคอ
- ถ้าเสมหะกล้า จะเริ่มจับแต่บ่าย 5 นาที ไปจนถึงพลบค่ำต่อไปจนถึงสว่าง 3 นาที เช้าอาการจะสร่างคลายลง อาการนั้นมีดังนี้คือ ลุกนั่งไม่สะดวก หอบบ่อยๆ คลื่นไส้ ถ่มน้ำลาย หนักตัว ตึงผิวหน้า ปากลิ้นเป็นเมือก