คัมภีร์ธาตุวิภังค์ กล่าวถึง สาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล และอาการที่เกิดขึ้นเมื่อธาตุทั้ง 4 พิการ ได้แก่ ธาตุทั้ง 4 ขาดเหลือ ธาตุทั้ง 4 พิการตามฤดู และยารักษา และธาตุทั้ง 4 พิการ และยารักษา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สาเหตุการเสียชีวิตของบุคคล
- บุคคลตายด้วยปัจจุบันกรรม และปัจจุบันโรค
คือ โอปักกะมิกาพาธ ถูกทุบถองโบยตีบอบช้ำ หรือต้องราชอาญาของพระมหากษัตริย์ ให้ประหารชีวิต การตายโดยปัจจุบันนี้ไม่ได้ตายเป็นปกติโดยลำดับ ขันธ์ชวร และธาตุทั้ง 4 ไม่ได้ล่วงไปโดยลำดับ อย่างนี้เรียกว่า “ตายโดยปัจจุบันกรรม”
ส่วน ปัจจุบันโรค คือ เกิดโรคตายโดยปัจจุบันทันด่วน เช่น อหิวาตกโรค หรือโรคอันเป็นพิษ ซึ่งกำเริบขึ้นโดยเร็วแล้วตายไป ธาตุทั้ง 4 ไม่ได้ขาดไปตามลำดับอย่างนี้ เรียกว่า “ตายด้วยปัจจุบันโรค”
- บุคคลตายด้วยโบราณกรรม และโบราณโรค
บุคคลตายโดยโบราณกรรม คือ ตายโดยกำหนดสิ้นอายุเป็นปริโยสาน คืออายุย่างเข้าสู่ความชรา ธาตุทั้ง 4 ขาดไปตามลำดับ เปรียบเหมือนผลไม้ เมื่อแก่สุกงอมเต็มที่แล้ว ก็หล่นลงเอง คนเราเมื่ออายุมากแล้ว ธาตุทั้ง 4 ก็ทรุดโทรม ไปตามลำดับ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ตาย อย่างนี้เรียกว่า “ตายโดยโบราณกรรม”
ส่วนการตายด้วยโบราณโรคนั้น คือ เป็นโรคคร่ำคร่าเรื้อรังมานาน หลายเดือนหลายปี เรียกว่า โบราณโรค เวลาจะตาย ธาตุทั้ง 4 ขาดไปตามลำดับแล้วตายไป อย่างนี้เรียกว่า “ตายด้วยโบราณโรค”
ว่าด้วยธาตุทั้ง 4 ขาดเหลือ (คัมภีร์ธาตุวิภังค์)
บุคคลใดตายโดยสิ้นกำหนดอายุเป็นปริโยสานนั้น ธาตุทั้ง 4 ย่อมขาดสูญไปตามลำดับ แต่เมื่อจะสิ้นอายุ แต่ละธาตุขาดเหลือ ดังนี้
- ปถวีธาตุ 20 ขาดไป 19 หทยัง (หัวใจ) ยังอยู่
- อาโปธาตุ 12 ขาดไป 11 ปิตตัง (น้ำดี) ยังอยู่ (น้ำลายยังอยู่ คัมภีร์โรคนิทาน)
- วาโยธาตุ 6 ขาดไป 5 อัสสาสะปัสสาสะวาตา (ลมหายใจเข้าออก) ยังอยู่
- เตโชธาตุ 4 ขาดไป 3 สันตัปปัคคี (ไฟอุ่นกาย) ยังอยู่
ถ้าธาตุทั้งหลายสูญสิ้นพร้อมกันดังกล่าวนี้ ท่านว่าเยียวยาไม่หาย หากขาด หรือหย่อนไปแต่ละสิ่ง สองสิ่ง ยังพอพยาบาลได้
ว่าด้วยธาตุทั้ง 4 พิการตามฤดู
ตามปกติ ปี 1 มี 3 ฤดูๆ ละ 4 เดือน แต่ในคัมภีร์ธาตุวิภังคื จัดฤดูไว้ 4 ฤดูๆ ละ 3 เดือน คือ :-
- เดือน 5,6 และ 7 ทั้ง 3 เดือนนี้ว่าด้วยเตโชธาตุ ชื่อสันตัปปัคคีพิการ
อาการให้เย็นในอก วิงเวียน รับประทานอาหารไม่ได้ บริโภคอาหารอิ่มมักให้จุกเสียดขัดในอก อาหารมักพลันแหลกไม่ได้อยู่ท้อง ให้อยากบ่อยๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดลม 6 จำพวก คือ:-
1) ลมชื่อ อุทรันตะวาตะ พัดแต่สะดือถึงลำคอ
2) ลมชื่อ อุระปักขะรันตะวาตะ พัดให้ขัดแต่อกถึงลำคอ
3) ลมชื่อ อัสสาสะวาตะ พัดให้นาสิกตึง
4) ลมชื่อ ปัสสาสะวาตะ พัดให้หายใจขัดอก
5) ลมชื่อ อนุวาตะ พัดให้หายใจขัด ให้ลมจับแน่นิ่งไป
6) ลมชื่อ มหัสกะวาตะ คือ ลมมหาสดมภ์ ให้หาวนอนมาก และหวั่นไหวหัวใจ ให้นอนแน่นิ่งไป ไม่รู้สึกกาย
- เดือน 8, 9 และ 10 ทั้ง 3 เดือนนี้ว่าด้วย วาโยธาตุ ชื่อกุจฉิสยาวาตาพิการ
อาการให้ผอมเหลือง ให้เมื่อยขบทุกข้อทุกลำตัวทั่วสรรพางค์กาย ให้แดกขึ้นแดกลง ให้ลั่นโครกๆ ให้หาวเรอ วิงเวียนหน้าตา หูหนัก มักให้ร้อนในอกในใจ ให้ระทดระทวย ให้หายใจสั้น ให้เหม็นปาก และหวานปาก มักให้โลหิตออกทางจมูก ทางปาก กินอาหารไม่รู้รส
- เดือน 11, 12 และ 1 ทั้ง 3 เดือนนี้ อาหารที่กินมักผิดสำแดง อาโปธาตุพิการ คือ:-
1) ดีพิการ มักให้ขึ้งโกรธ สะดุ้งตกใจ หวาดกลัว
2) เสมหะพิการ ให้กินอาหารไม่รู้รส
3) หนองพิการ มักให้ไอเป็นโลหิต
4) โลหิตพิการ มักให้เพ้อพก ให้ร้อน
5) เหงื่อพิการ มักให้ซูบผอม ให้ผิวหนังสากชา
6) มันข้นพิการ มักให้ปวดศีรษะ ให้ปวดตา ให้ขาสั่น
7) น้ำตาพิการ มักให้ตามัว น้ำตาตก ตาแห้ง ดวงตาเป็นดังเยื่อลำไย
8) มันเหลวพิการ ให้แล่นออกทั่วกาย ให้นัยน์ตาเหลือง มูตร และคูถเหลือง บางทีให้ลง และอาเจียน กลายเป็นป่วงลม
9) น้ำลายพิการ ให้ปากเปื่อยคอเปื่อย บางทีให้เป็นยอดเป็นเม็ดขึ้นในคอ บางทีเป็นไข้ ให้ปากแห้งคอแห้ง
10) น้ำมูกพิการ ให้ปวดศีรษะ เป็นหวัด ให้ปวดสมอง น้ำมูกตก นัยน์ตามัว วิงเวียนศีรษะ
11) ไขข้อพิการ ให้เมื่อยทุกข้อทุกกระดูก ให้ขัดให้ตึงทุกข้อ
12) มูตรพิการ ให้ปัสสาวะแดง และขัดปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นโลหิต เจ็บปวดเป็นกำลัง
- เดือน 2, 3 และ 4 ทั้ง 3 เดือนนี้ นอนผิดเวลา ปถวีธาตุพิการ อาการแต่ละอย่าง มีดังนี้:-
1) ผมพิการ ให้เจ็บรากผม ให้คันศีรษะ ผมหงอก ผมเป็นรังแค เจ็บหนังศีรษะ
2) ขนพิการ ให้เจ็บทั่วสรรพางค์กายทุกเส้นขน ให้ขนลุกขนพองทั้งตัว
3) เล็บพิการ ให้เจ็บต้นเล็บ เล็บเขียวช้ำดำ เจ็บเสียวหลายนิ้วมือนิ้วเท้า
4) ฟันพิการ ให้เจ็บไรฟัน ให้ฟันหลุด ฟันโยกคลอน
5) หนังพิการ ให้ร้อนผิวหนังทั่วกาย บางทีให้เป็นผื่นขึ้นทั้งตัวดุจหัวผด ให้ปวดแสบปวดร้อน
6) เนื้อพิการ ให้นอนสะดุ้งไม่สมปฤดี มักให้ฟกบวม บางทีผุดขึ้นเป็นสีเขียว สีแดง ทั่วทั้งตัว บางทีเป็นลมพิษ สมมุติเรียกว่า ประดง
7) เอ็นพิการ ให้จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้ปวดศีรษะมาก เรียกว่า อัมพฤกษ์กำเริบ
8) กระดูกพิการ ให้เมื่อยในข้อในกระดูก
9) เยื่อในกระดูกพิการ ให้ปวดตามแท่งกระดูกเป็นกำลัง
10) ม้ามพิการ ให้ม้ามหย่อน มักเป็นป้าง
11) หัวใจพิการให้คลั่งไคล้ดุจเป็นบ้า ถ้ามิดังนั้น ให้หิวโหย หาแรงมิได้ ให้ทุรนทุรายยิ่งนัก
12) ตับพิการ ให้ตับโต ตับทรุดเป็นฝีในตับ กาฬขึ้นในตับ
13) พังผืดพิการ ให้เจ็บให้จุกเสียด ให้อาเจียน ให้แดกขึ้นแดกลง
14) ไตพิการ ให้ปวดท้องแดกขึ้นแดกลง ปวดขัดเป็นกำลัง
15) ปอดพิการ ให้เจ็บปอด ให้ปอดเป็นพิษ ให้กระหายน้ำมาก กินน้ำจนปอดลอย จึงหายอยาก
16) ลำไส้น้อยพิการ ให้สะอึก ให้หาว ให้เรอ
17) ลำไส้ใหญ่พิการ ให้ผะอืดผะอม ให้ท้องขึ้นท้องพอง มักเป็นท้องมาน ลมกระษัย บางทีให้ ลงท้องตกมูกตกเลือด เป็นไปต่างๆ
18) อาหารใหม่พิการ ให้ลงแดง ให้ราก มักเป็นป่วง 8 จำพวก
19) อาการเก่าพิการ ให้กินอาหารไม่มีรส เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคต่างๆ เพราะอาหารผิดสำแดง
20) มันสมองศีรษะพิการ ปกติสมองศีรษะพร่องจากกระบาลศีรษะ ประมาณเส้นตอกใหญ่ๆ ถ้าเจ็บปวดพิการ มันในสมองก็เดือดขึ้นเต็มกระบาลศีรษะ ให้ปวดเป็นกำลัง นัยน์ตาแดงคลั่ง เรียกว่า สันนิบาต ให้สุมยารสสุขุม มันสมองจึงจะยุบ และหายปวด
ว่าด้วยธาตุทั้ง 4 พิการ
เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) 4 พิการ
- ปริณามัคคีพิการ (ไฟสำหรับย่อยอาหารเสียสภาพเดิม) อาการให้ร้อนในอกในใจ ให้ไอเป็นมองคร่อ ให้ท้องขึ้นท้องพอง ผะอืดผะอม
- ปริทัยหัคคีพิการ (ไฟสำหรับร้อนระส่ำระสายเสียสภาพเดิม) อาการให้มือ และเท้าเย็น ชีพจรเดินไม่สะดวกขาด 1 หลักก็ดี 2 หลักก็ดี บางทีให้เย็นเป็นน้ำแต่ภายในร้อน ให้รดน้ำไม่ได้ขาด บางทีให้เย็นแต่เหงื่อตกเป็นดังเมล็ดข้าวโพด
- ชิรณัคคีพิการ (ไฟสำหรับเผาให้แก่คร่ำคร่าเสียสภาพเดิม) ให้หน้าผากตึง นัยน์ตาดูไม่รู้จักอะไรมองไม่เห็นแล้วกลับเห็น หูตึงแล้วกลับได้ยิน จมูกไม่รู้กลิ่นแล้วกลับรู้ ลิ้นไม่รู้จักรสอาหารแล้วกลับรู้ กายไม่รู้สึกสัมผัสแล้วกลับรู้ อาการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ด้วยว่าพญามัจจุราชมาประเล้าประโลมคนสัตว์ทั้งหลาย
- สันตัปปัคคีพิการ (ไฟสำหรับอุ่นกายเสียสภาพเดิม) ถ้าแตกเมื่อใด จะเยียวยาไม่ได้เลย ตายเป็นเที่ยงแท้
วาโยธาตุ (ธาตุลม) 6 พิการ
- อุทธังคมาวาตาพิการ (ลมสำหรับพัดขึ้นเบื้องบนตั้งแต่ปลายเท้าตลอดถึงศีรษะเสียสภาพเดิม) เมื่อพิการ หรือแตก ทำให้มีอาการดิ้นรน มือเท้าขวักไขว่ ให้พลิกตัวไปๆ มาๆ ให้ทุรนทุราย ให้หาวเรอบ่อยๆ
- อโธคมาวาตาพิการ (ลมสำหรับพัดลงเบื้องล่างตั้งแต่ศีรษะตลอดถึงปลายเท้าเสียสภาพเดิม) เมื่อพิการ หรือแตก อาการให้เมื่อยขบขัดทุกข้อทุกกระดูก ให้ยกมือยกเท้าไม่ไหว เจ็บปวดเป็นกำลัง
- กุจฉิสยาวาตาพิการ (ลมสำหรับพัดอยู่ในท้องแต่นอกลำไส้เสียสภาพเดิม) เมื่อพิการ หรือแตก อาการให้ท้องขึ้นท้องพอง ให้ลั่นในท้องจ๊อกๆ ให้เจ็บในอก ให้สวิงสวาย ให้เจ็บแดกขึ้นแดกลง
- โกฏฐาสยาวาตาพิการ (ลมสำหรับพัดในลำไส้ และในกระเพาะอาหารเสียสภาพเดิม) เมื่อพิการ หรือแตก อาการให้เหม็นข้าว อาเจียน จุกอก ให้เสียด และแน่นหน้าอก
- อังคมังคานุสารีวาตาพิการ (ลมสำหรับพัดทั่วร่างกาย [ปัจจุบันเรียกว่าโลหิต แต่ก่อนเรียกว่าลม] เสียสภาพเดิม) เมื่อพิการ หรือแตก อาการให้หูตึง เจรจาไม่ได้ยิน ให้เห็นหิ่งห้อยออกจากลูกตา ให้เมื่อยมือ และเท้าดังกระดูกจะแตก ให้ปวดในกระดูกสันหลังดังเป็นฝี ให้สะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้คลื่นเหียนอาเจียนลมเปล่า
- อัสสาสะปัสสาสะวาตา (ลมสำหรับหายใจเข้าออกเสียสภาพเดิม) จะได้แตก หรือพิการไม่ได้ ลมอันนี้คือลมอันพัดให้หายใจเข้าออก ถ้าสิ้นลมหายใจเข้า และออก หรือลมหายใจเข้าออกขาดแล้วเมื่อใด ก็ตายเมื่อนั้น เมื่อจะตายให้หายใจสั้นเข้าๆ จนไม่ออกไม่เข้า
อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) 12 พิการ
- ปิตตัง (ดี) พิการ ถ้าพิการ หรือแตก ทำให้คนผู้นั้นหาสติมิได้ คลุ้งคลั่งเป็นบ้า
- เสมหัง (เสมหะ) พิการ ถ้าเสมหะพิการ หรือแตก ให้สะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้จับไข้เป็นเวลา บางทีให้ลงเป็นโลหิตเสมหะเน่า ให้ปวดมวน
- ปุพโพ (หนอง) พิการ ถ้าหนองพิการ หรือแตก ให้ไอเป็นกำลัง กายซูบผอมหนัก ให้กินอาหารไม่รู้รส มักให้เป็นฝีในท้อง
- โลหิตัง (เลือด) พิการ ถ้าโลหิตพิการ หรือแตก มีอาการดังนี้ คือ
ให้นัยน์ตาแดงดังสายโลหิต ให้งง และให้หนักหน้าผาก เพราะโลหิตกำเริบ บางทีให้ผุดภายนอกเป็นวงแดง เขียว หรือเหลือง กระทำพิษต่างๆ ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง แพทย์สมมุติว่า เป็นไข้รากสาด หรือปานดำปานแดง เป็นต้น
สมมุติเรียกชื่อต่างๆ เพราะโลหิตแตกกระจายซ่านออกผิวหนัง บางทีให้อาเจียนเป็นโลหิต หรือลงเป็นโลหิต บางทีโลหิตแล่นเข้าจับหัวใจทำให้คลุ้มคลั่งทุรนทุราย ให้ละเมอเพ้อพกหาสติไม่ได้ แพทย์สมมุติว่า สันนิบาตโลหิต ก็ว่า บางทีให้ร้อนให้หนาว บางทีให้ชักเท้ากำมือ ให้ขัดหนักขัดเบา บางทีให้เบาออกมาเป็นสีต่างๆ โลหิตนี้ร้าย แพทย์สมมุติว่า เป็นไข้กำเดาโลหิต - เสโท (เหงื่อ) พิการ มีอาการให้เหงื่อแตก และเหงื่อตกนัก ให้ตัวเย็น และให้ตัวขาวซีด สากชาไปทั้งตัว สวิงสวายหากำลังไม่ได้
- อัสสุ (น้ำตา) พิการ มีอาการให้น้ำตาตกหนักแล้วก็แห้งไป ให้ลูกตาเป็นดังเยื่อผลลำใย
- เมโท (มันข้น) พิการ มีอาการให้ผิวหนังผุดเป็นวง บางทีแตกเป็นน้ำเหลือง ให้ปวดแสบ ปวดร้อนเป็นกำลัง
- วสา (น้ำมันเหลว) พิการ ถ้าแตกกระจายออกทั่วตัว ให้ตัวเหลือง ตาเหลือง บางทีให้ลงและให้อาเจียนดังป่วงลม
- เขโฬ (น้ำลาย) พิการ มีอาการให้ปากเปื่อย คอเปื่อย น้ำลายเหนียว บางทีเป็นเม็ดยอดขึ้นในคอในลิ้น ทำพิษต่างๆ
- สิงฆานิกา (น้ำมูก) พิการ มีอาการให้ปวดในสมอง ให้น้ำมูกไหล ตามัว ให้ปวดศีรษะวิงเวียนศีรษะ
- ลสิกา (ไขข้อ) พิการ มีอาการกระทำให้เมื่อยในข้อในกระดูก ดุจดังจะคลาดออกจากกัน ให้ขัดตึงทุกข้อ แก้ยากเพราะอยู่ในกระดูก
- มูตตัง (น้ำปัสสาวะ) พิการ มีอาการให้ปัสสาวะวิปลาส ให้น้ำปัสสาวะสีแดง สีเหลืองดังขมิ้น บางทีขาวดังน้ำข้าวเช็ด ให้ขัดเบาขัดหัวเหน่า หัวเหน่าฟก บางทีเป็นมุตกิดมุตฆาต กาฬขึ้นในมูตร ให้มูตรแปรไปต่าง ๆ
ปัถวีธาตุ (ธาตุดิน) 20 พิการ
- ผมพิการให้เจ็บสมองศีรษะ ให้ชา ให้ผมร่วงหล่น
- ขนพิการให้เจ็บทุกเส้นขนทั่วสรรพางค์กาย
- เล็บพิการให้ต้นเล็บเจ็บช้ำดำเขียว บางทีให้ฟกบวม คือ เป็นตะมอยหัวดาวหัวเดือนกลางเดือน บางทีให้เจ็บช้ำเลือดช้ำหนอง ให้เจ็บปวดเป็นกำลัง
- ฟันพิการให้เจ็บปวดฟกบวมเป็นกำลัง ถึงฟันหลุดแล้วก็ดี มักเป็นไปตามประเพณีสังสารวัฏ ให้เจ็บฟัน และไรฟันเหงือกตลอดสมอง ถ้าฟันยังไม่หลุดไม่ถอน ก็ให้แก้ตามกระบวนการรำมะนาดนั้นเถิด
- หนังพิการให้ชาสากทั้งตัว แมลงวันจะจับ หรือไต่ที่ตัวก็ไม่รู้สึก ให้แสบร้อนเป็นกำลังเรียกว่า กัมมิโทษ
- เนื้อพิการเนื้อประมาณ 500 ชิ้น ถ้าพิการให้เสียวซ่านไปทั่วทั้งตัว มักให้ฟกบวมไม่เป็นที่ให้เป็นพิษ บางทีให้ร้อนดังไฟลวก บางทีให้ฟกขึ้นดังประกายดาษ ประกายเพลิง
- เอ็นพิการเส้นประธาน 10 เส้น เส้นบริวาร 2,700 เส้นพิการ ให้หวาดหวั่นไหวไปทั่วทั้งกาย ที่กล้าก็กล้า ที่แข็งก็แข็ง ที่ตั้งดานก็ตั้งดาน ที่ขอดก็ขอด เป็นก้อนเป็นเถาไป ที่จะให้โทษหนักนั้น คือ เส้นสุมนา และเส้นอัมพฤกษ์ เส้นสุมนาผูกดวงใจสวิงสวายทุรนทุราย หิวหาแรงไม่ได้ เส้นอัมพฤกษ์ให้กระสับกระส่าย ให้ร้อนให้เย็น ให้เมื่อยให้เสียวไปทุกเส้นทุกเอ็นทั้งตัว ตั้งแต่ศีรษะตลอดถึงเท้า บางทีให้เจ็บเป็นเวลา
- กระดูกพิการกระดูก 300 ท่อน พิการก็ดี แตกก็ดี น้ำมันซึ่งจุกอยู่ในข้อนั้น ละลายออกแล้ว ให้เจ็บปวดกระดูกดุจดังว่าจะเคลื่อนคลาดออกจากกัน
- เยื่อในกระดูกพิการ(เยื่อในกระดูกหรือสมองกระดูก) พิการ ให้ปวดตามแท่งกระดูก
- ม้ามพิการให้ม้ามหย่อน เป็นป้าง
- หัวใจพิการมักให้เป็นบ้า ถ้ายังอ่อนอยู่ให้คุ้มดีคุ้มร้าย มักขึ้งโกรธ บางทีให้ระส่ำระสายให้หิวโหยหาแรงไม่ได้
- ตับพิการเมื่อพิการเป็นโทษ 4 ประการ ล่วงเข้าลักษณะอติสาร คือ กาฬผุดขึ้นในตับ ให้ตับหย่อน ตับทรุด บางทีเป็นฝีในตับ ให้ลงเป็นเลือดสดๆ ออกมา อันนี้คือกาฬมูตรผุดขึ้น ต้นลิ้นกินอยู่ในตับ ให้ลงเสมหะและโลหิตเน่า ปวดมวนเป็นกำลัง ให้ลงวันละ 20 หรือ 30 หน ให้ตาแข็ง และแดงเป็นสายเลือด
- พังผืดพิการมักให้อกแห้ง กระหายน้ำ อันนี้คือโรคริดสีดวงแห้งนั่นเอง
- ไตพิการให้ขัดอก ให้ท้องขึ้นท้องพอง ให้แน่นในอกในท้อง กินอาหารไม่ได้
- ปอดพิการอาการเป็นดุจดังไข้พิษ กาฬขึ้นในปอด ให้ร้อนในอก กระหายน้ำหอบดุจดังสุนัขหอบแดด จนโครงลด ให้กินน้ำจนอดลอยจึงหายอยาก บางทีกินจนอาเจียนน้ำออกมา จึงหายอยาก
- ไส้ใหญ่พิการให้วิงเวียนหน้าตา จะลุกขึ้นให้หาวเรอ ให้ขัดอก และเสียดสีข้างให้เจ็บหลังเจ็บเอว ให้ไอ เสมหะขึ้นคอ ให้ร้อนคอ ร้อนท้องน้อย มักให้เป็นลมเรอโอ้ก ให้ตกเลือดตกหนอง
- ไส้น้อยพิการให้กินอาหารผิดสำแดง ให้ปวดท้อง ให้ขัดอก บางทีให้ลงให้อาเจียน อันนี้คือลมกัมมัชวาตพัดเอาแผ่นเสมหะให้เป็นดาน กลับเข้าในท้องในทรวงอกก็ตัดอาหาร ท่านว่าไส้ตีบไป
- อาหารใหม่พิการอาการ กินข้าวอิ่มเมื่อใด มักให้ร้อนท้องนัก บางทีลงดุจกินยารุ บางทีให้สะอึก ขัดหัวอก ให้จุกเสียดตามชายโครง ผะอืดผะอม สมมุติว่าไฟธาตุนั้นหย่อน โรคทั้งนี้ย่อมให้โทษเพราะอาหารไม่ควรกินนั้นอย่างหนึ่ง กินอาหารดิบอย่างหนึ่ง ลมในท้องพัดไม่ตลอด มักให้แปรไปต่างๆ บางทีลงท้อง บางทีผูกเป็นพรรดึก ให้แดกขึ้นแดกลง กินอาหารไม่ได้
- อาหารเก่าพิการคือ ซางขโมยกินลำไส้ ถ้าพ้นกำหนดซางแล้ว ถือว่าเป็นริดสีดวง
- มันสมองพิการให้เจ็บกระบาลดังจะแตก ให้ตามัว หูตึง ปาก และจมูกให้ชักขึ้นเป็นเฟ็ดไป ลิ้นกระด้างคางแข็ง ลักษณะดังนี้ เดิมเมื่อจะเป็น เป็นเพราะโทษแห่งลมปะกัง ให้ปวดหัวเป็นกำลัง ถ้าแก้ไม่ฟังตาย
ยาแก้ธาตุทั้ง 4 พิการ
ยาแก้ เตโชธาตุ ชื่อกาลาธิจร
- ประกอบด้วย โกฐสอ โกฐพุงปลา ดีปลี หัวแห้วหมู เปลือกโมกมัน ผลผักชี อบเชย สะค้าน ขิง ผลเอ็น อำพัน ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดเป็นผง ละลายน้ำร้อน หรือน้ำผึ้งก็ได้ กินแก้เตโชธาตุพิการ
ยาแก้วาโยธาตุ ชื่อฤทธิจร
- ประกอบด้วย ดีปลี แผกหอม เปราะหอม พริกไทย หัวแห้วหมู ว่านน้ำ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน รากกระเทียมเท่ายาทั้งหลาย
บดเป็นผงละลายน้ำร้อนหรือน้ำผึ้งก็ได้ กินแก้ วาโยธาตุพิการ
ยาแก้อาโปธาตุพิการ
- ประกอบด้วย รากเจตมูลเพลิง โกฐสอ ลูกผักชี ขิงแห้ง ดีปลี ลูกมะตูมอ่อน สะค้าน หัวแห้วหมู ลูกพิลังกาสา รากคัดเค้า เปลือกโมกมัน สมุลแว้ง กกลังกา ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง รากขัดมอน
เอาส่วนเท่ากัน ต้ม 3 เอา 1
กินแก้อาโปธาตุพิการ หายแล
ยาแก้ปถวีธาตุพิการ( สมอง กระดูก ม้าม)
- ประกอบด้วย กระเทียม 1 ใบสะเดา 1 ใบคนทีสอ เปลือกตีนเป็ด เบญจกูล สิ่งละ 1 ลูกจันทน์ 1 ดอกจันทน์ 1 กระวาน 1 กานพลู 1 ตรีกฏุก 1 เปลือกกันเกรา (สิ่งละ 2 ) สมุลแว้ง 3
จันทน์ทั้ง 2 สิ่งละ 1 สมอทั้ง 3 สิ่งละ 1
ยาแก้หัวใจพิการ ชื่อมูลจิตใหญ่
- ประกอบด้วย ผลคนทีสอ ใบสหัสคุณ ผลตะลิงปลิง จันทน์ทั้งสอง ดีปลี เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทพทาโร เอาส่วนเท่ากัน บดปั้นเป็นแท่ง ละลายน้ำดอกไม้ แทรกพิมเสน กินหาย ใช้ได้ 108 แล