คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา เป็นตำราที่ว่าด้วยอาการของโรคบุรุษและโรคสตรี รวมถึงยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคบุรุษและสตรี พระคัมภีร์นี้แบ่งอาการของโรคออกเป็น 8 ประการ ได้แก่
- ทุลาวสา เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับบุรุษเท่านั้น มีอาการผิดปกติเวลาถ่ายปัสสาวะ ลักษณะของทุลาวสาแบ่งออกเป็น 4 ชนิด
- มุตคาต เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะกับสตรี มีอาการของการถ่ายปัสสาวะผิดปรกติ ลักษณะของมตุคาตแบ่งออกเป็น 4 ชนิด
- มุตกิต เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะกับสตรีเช่นกัน เป็นลักษณะที่น้ำปัสสาวะมีความผิดปรกติและรุนแรงกว่ามุตคาต มุตกิตแบ่งออกเป็น 4 ชนิด
- สันทะคาต เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับบุรุษและสตรีที่สำส่อนในทางกาม สันทะคาตแบ่งออกเป็น 4 ชนิด
- องคสูตร เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในบุรุษ มีอาการเจ็บที่องคชาตและลูกอัณฑะ แบ่งออกเป็น 4 ชนิด
- ช้ำรั่ว เป็นโรคที่เกิดเฉพาะสตรีเท่านั้น ช้ำรั่วเป็นอาการผิดปกติเกี่ยวกับมดลูก มี 4 ชนิด
- อุปทม เป็นโรคที่เกิดทั้งในบุรุษและสตรี อุปทมแบ่งออกเป็น 4 ชนิด
- ไส้ด้วน เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในบุรุษเท่านั้น ถ้าเกิดในสตรีจะเรียกว่าไส้ลาม ทั้งสองอย่างเป็นอาการเน่าทั้งที่องคชาตและภายใน ถ้าไม่รักษาก็ถึงตายได้ ไส้ด้วนไส้ลามแบ่งออกเป็น 4 ชนิด
โรคอันเกิดแก่บุรุษและสตรีดังกล่าวมีอาการที่น่ากลัวมาก พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา บอกถึงวิธีการรักษาด้วยยาสมุนไพรทั้ง ๓๒ ชนิด ตามลักษณะของโรคที่มีอาการต่างๆ กันออกไป นอกจากนี้ยังกล่าวถึงโรคนิ่ว โรคริดสีดวง และการใช้สมุนไพรรักษาอาการของโรคดังกล่าวด้วย
คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา นี้กล่าวถึง ทุรวสา 32 จำพวก คือ
ทุราวสา 12 จำพวก และปะระเมหะ 20 จำพวก
ทุรวสา 12 จำพวก แบ่งออกเป็น
- ทุรวสา 4 จำพวก
- มุตฆาต 4 จำพวก
- มุตกิด 4 จำพวก
ปะระเมหะ 20 จำพวก แบ่งออกเป็น
- สัณฑะฆาต 4 จำพวก
- อังคสูตร 4 จำพวก
- ช้ำรั่ว 4 จำพวก
- อุปทม (อุปทังสโรค) 4 จำพวก
- ไส้ด้วน 4 จำพวก
อาการ และอาการแสดง
ทุรวสา มี 4 จำพวก ( น้ำปัสสาวะชั่ว) ดังนี้
- ปัสสาวะออกมาเป็น สีขาว ขุ่นดังน้ำข้าวเช็ด
- ปัสสาวะออกมาเป็น สีเหลือง ดังน้ำขมิ้นสด
- ปัสสาวะออกมาเป็น โลหิตสดๆ แดงดังน้ำฝางต้ม
- ปัสสาวะออกมาเป็น สีดำ ดังน้ำคราม ( น้ำครำ)
อาการ ให้ปวดหัวเหน่า ให้แสบองคชาต ให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว เป็นไปต่างๆ
มุตฆาต มี 4 จำพวก ดังนี้
- ปัสสาวะออกมาแดงขุ่นข้น ให้ปวดขัดเจ็บเสียวเป็นกำลัง
- ปัสสาวะออกมาแดง ขุ่นข้น เป็นโลหิตช้ำปนโลหิตสด
- ปัสสาวะออกมาแดงขุ่นข้น เป็นหนองช้ำขุ่นข้น
- ปัสสาวะออกมาแดงขุ่นข้น เป็นสีดำดุจดังน้ำคราม (น้ำครำ)
อาการ เกิดด้วยกระทบชอกช้ำ จึงสำแดงโทษ ให้ขัดสองราวข้าง เส้นปัตคาต ให้เสียด แทงในอก เคลื่อนกายไม่สะดวก บริโภคอาหารมิได้ ให้อาเจียนลมเปล่า เป็นต้น
มุตกิจ มี 4 จำพวก ดังนี้
- ปัสสาวะออกมาดุจโลหิตช้ำ และดังน้ำปลาเน่า
- ปัสสาวะออกมาเป็นโลหิตจาง ดุจน้ำชานหมาก
- ปัสสาวะออกมาเป็นน้ำหนองจางๆ ดุจน้ำซาวข้าว
- ปัสสาวะออกมาเป็นเมือกคล่องๆ ขัดๆ หยดย้อย ดุจน้ำมูกไหลเลือกออกมา
อาการ กระทำให้เจ็บ ให้ขัดไหลหยดย้อยออกมา แล้วให้ปวดหัวเหน่า ข้อตะโพก แสบในอก บริโภค อาหารไม่รู้รส ทั้งนี้ เกิด เพื่อโลหิตช้ำ
สัณฑะฆาต มี 4 จำพวก ดังนี้
- สัณฑฆาต เกิดเพื่อโลหิตแห้ง ถ้าบังเกิดแก่สตรี ว่าด้วยโลหิตเดินมิสะดวก คุมกันเป็นก้อน ประมาณเท่าฟองไข่ติดกระดูกสันหลังข้างใน มักให้เจ็บหลังบิดตัว ให้จุกแน่น หน้าอก ดังจะขาดใจ ถ้าบุรุษว่า ด้วยไข้อันถึงพิฆาต คือตกต้นไม้ ถูกทุบถองโบยตีสาหัส พิการช้ำในอก โลหิตจึงเกาะกันเป็นก้อนดาน กระทำให้ร้อน เสียดแน่นยอกสันหลัง มีประเภทต่างๆ เป็น อสาทิยาโรค ( อสัณฑฆาต)
- สัณฑฆาต เกิดเพื่อกาฬ เกิดขึ้นภายใน ดี ตับ ปอด และหัวใจ บังเกิดสัณฐานดุจเม็ดข้าวสารหัก บางทีขึ้นในไส้อ่อน ไส้แก่ ถ้าขึ้นดี ให้คลั้งเพ้อ ถ้าขึ้นตับ ให้ตับหย่อน ให้ตกโลหิตมีอาการดุจ ปีศาจเข้าสิง ถ้าขึ้นในปอด ให้กระหายน้ำ ถ้าขึ้นในหัวใจ ให้นิ่งไป เจรจามิได้ ถ้าขึ้นในไส้อ่อน ไส้แก่ ให้จุกโลหิต ท้องขึ้น ท้องพอง ดังมานกระษัย ถ้าเป็นดังกล่างมานี้ กำหนด 7-8-9 วัน โลหิตจะแตกออกในทวารทั้ง 9 เรียกว่า รัตติปตตโรค เป็นต้น แห่ง สัณฑฆาต เป็นอติสัยโรค ( ตรีสัณฑฆาต)
- สัณฑฆาต เกิดเพื่อปัตคาด บังเกิดมีอาการกระทำให้ท้องผูก เป็นพรรดึก และให้เลือดแห้ง แล้วจึงบังเกิดวาโยกล้าพัดโลหิตให้เป็นก้อนเข้าอยู่ในอุทร ให้เจ็บไปทั่วสรรพางค์กาย เมื่อยบั่นเอว และมือเท้า ตาย ให้ขบขัดเบาและตะโพก ให้ท้องขึ้นและตึงลงในทวารเบา บริโภคอาหารไม่มีรส ให้ปากเปื่อยเสียงแหบแห้ง เวียนศีรษะอยู่เป็นนิจ น้ำตาไหล และตามืด หูตึง เมื่อนจะเป็นให้มึนตึงตัว ไม่อยากรับประทานอาหาร บางคราวให้ร้อน บางคราวให้หนาว บางครั้งให้อยากเปรี้ยว อยากหวาน โทษทั้งสิ้นนี้ เกิดเพื่อ ปัตคาต ให้โทษ ( โทสัณฑฆาต)
- สัณฑฆาต เกิดเพื่อกล่อนแห้ง บังเกิดมีอาการกระทำให้เจ็บกระบอกตา ให้เมื่อยไปทั่วทั้งตัว เจ็บที่สะดือ ตลอดไปถึงอัณฑะ ให้คันองคชาต ให้เจ็บแสบร้อน แล้วแตกออกเป็นน้ำเหลืองไหลซึมไป อนึ่ง กระทำให้เม็ดงอก ขึ้นในรูองคชาต เท่าผลพริกเทศ ครั้นนานเข้าดังยอดหูด ปัสสาวะก็เปลี่ยนไปเป็นสีต่างๆ 4 ประการ กระทำให้อาเจียน เป้นน้ำลาย น้ำลายฝาด อสาทิยโรค รักษายากนัก
- องคสูตร เกิดในเดือน 5-6-7 ( คิมหันตฤดู) นั้น เมื่อจะเกิด ให้ลูกอัณฑะข้างขวานั้งพองแดง ขึ้นดังผลตำลึงสุก ทำให้แสบร้อนเป็นกำลัง และโลหิตมักลงไปตามช่องปัสสาวะ ทำให้ปวดแสบปวดร้อน ไปตามเส้นเอ็นทั้งปวง เจ็บแต่สองราวข้าง ให้เสียดแทง อุจจาระผูกเป็นพรรดึก ขัดปัสสาวะเดินไม่สะดวก โทษทั้งนั้เกิดเพื่อโลหิต 3 ส่วน วาโยระคน 2 ส่วน รักษายาก
- องคสูตร เกิดในเดือน 8-9-10 ( วสันตฤดู) นั้น มักให้เจ็บในอก และขาทั้ง 2 ข้าง ให้เจ็บเสียวตาม กระดูกสันหลังกระหวัดมาราวนม และบ่าทั้งสองข้าง แล่นไปปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง ให้ขบไปตอดดัง มดตะนอยต่อย ให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว วิงเวียนหน้าตา ให้ชักหลังงอ เวลาปัสสาวะ ให้แสบร้อนในรูองคชาตไป จุกอุจจาระให้เป็น มูกเลือดออกมา โรคนี้เกิดขึ้นเพื่อวาโย 2 ส่วน เพื่อเสโทโลหิต 1 ส่วน บังเกิดแต่ลำไส้ออกมา ลักษณะดังนี้เป็น อสาทยโรค รักษายากนัก
- องคสูตร เกิดในเดือน 11–12-1 ( เหมันตฤดู) นั้น เมื่อบังเกิดขึ้นให้ปวดในรูองคชาต ปัสสาวะเล็ดออกมา ปัสสาวะหยดย้อย เจ็บบั่นเอว ทานอาหารไม่ได้ โทษเกิดเพื่อเสมหะ 3 ส่วน โลหิต 2 ส่วน ครั้นนานเข้าทำให้ไส้ขาดออกมา ก็ถึงแก่ความตาย เป็นอติสัยโรครักษาไม่ได้เลย ถ้าจะแก้ แก้แต่ยังอ่อนอยู ถ้าแก้ ให้แก้โลหิตเสียก่อน แล้วจึงแก้เสมหะ ต่อไปตามลำดับ
- องคสูตร เกิดในเดือน 2-3-4 ( สันนิปาตฤดู) เวลาเกิดขึ้นกระทำให้ผิวอัณฑะดำ และบวม มีพิษแสบร้อนมาก อัณฑะฟกข้างหนึ่งมีพิษแสบร้อนมาก เจ็บตาข้างหนึ่ง ปวดศีรษะข้างหนึ่ง บังเกิดด้วยโลหิตสันนิบาต ปัสสาวะเป็นน้ำเหลือง โลหิตเจือออกมา แสบตามช่องปัสสาวะ ให้เสียดสองราวข้าง และหน้าอก ขึ้นมาตามเกลียวปัตคาด จับเป็นเวลา ทานอาหาร ไม่ได้ อาเจียนลมเปล่าต้นคอ คอแห้ง น้ำลายเหนียว ตกเสมหะโลหิตทางทวารหนักดุจเป็นบิด ร้อนนัยน์ตา สวิงสวาย กองสันนิปาต ฤดูทั้ง 3 มาประชุมพร้อมกัน กำหนดมิได้
- เกิดเพราะสตรีคลอดบุตรแล้ว อยู่ไฟไม่ได้ เนื่องจากมดลูกไม่เข้าอู่หรือปวดขึ้นกลับ อยู่นาน จนกลาย เป็นหนองและโลหิต ราว 2 ถึง 3 เดือน ก็มีโลหิตจางๆ ไหลออกมา ปนกับน้ำเหลือง อันมีพิษไหล ถึงไหนก็มีผื่นขึ้น ทำให้ขอบทวารเป็นหัวขาวๆ แล้วแตกเปื่อยลามไป
อาการ ทำให้ปวดแสบปวดร้อน คันในช่องคลอดและขอบทวารเบา และปวดเสียวในมดลูก ปัสสาวะหยดย้อย - เกิดเพราะเสพเมถุนมากเกินประมาณ ปากทวารเปื่อยเน่า ได้รับความชอกช้ำ ภายในถึงปากมดลูก จึงเกิดเป็นน้ำหนอง น้ำเหลืองเน่าร้าย ไหลหยดย้อย ลุกลามกัดเนื้ออ่อนภายใน
- เกิดเพราะเป็นฝีที่มดลูก มีลักษณะบวม ปัสสาวะเป็นน้ำเหลือง บางครั้งเป็นเหมือนน้ำคาวปลา
อาการ ให้เจ็บปวดที่มดลูกเป็นกำลัง ขัดเสียวที่หัวเหน่า ปัสสาวะปวดแสบหยดย้อย อีกจำพวกหนึ่งเกิดกับสตรีรุ่นสาว ที่ยังไม่มีระดูประจำเดือน ร่วมเมถุนกับบุรุษ ถูกข่มขืนจากชายโดยหักหาญ ถึงโลหิตออกจากช่องทวาร มีอาการเจ็บปวดแสบจนกลายเป็นแผลเน่าเปื่อย ขัดปัสสาวะ และหยดย้อย - เกิดเพราะสตรีชอบประกอบเมถุนกามส่ำส่อนเป็นเนืองนิจ จึงเกิดโรคตามนาม สมมุติว่า อุปทุม ( กามโรค) ร้ายแรงนัก ให้มีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลออกมา ปัสสาวะกระปริดกระปรอย
อาการ ให้ปวดแสบร้อนภายในช่องคลอด และช่องทวารเบา ปัสสาวะหยดย้อย เจ็บ ขัดถึง บริเวณหัวเหน่า
- อุปทม เกิดเพราะการอักเสบ เนื่องด้วยเสพเมถุนกับสตรีที่ยังไม่มีระดู ข่มขืน กระทำชำเรา ด้วยความกำหนัด สตรีเพศพรหมจารี บุรุษข่มเหงเอาด้วยกำหนัดยินดี ซึ่งสตรีเป็นเพศพรหมจารี นั้น มิรู้รสกำหนัดยินดี ด้วยเปรียบประดุจดังช้างสารตัวใหญ่เข้าไปอยู่ในโพรงอันแคบแล้วจะได้คิดว่าเจ็บปวดนั้นหามิได้ ครั้นออกจากช่องคลอดแล้ว กระทำให้เจ็บปวดต่างๆ คือ ให้องค์กำเนิดช้ำนัก เดาะ เป็นหนอง เป็นโลหิตไหลออกมาตามช่องทวารเบาของตนเอง ได้รับความเจ็บปวดเวทนายิ่งนัก คือ ให้แสบร้อน ปัสสาวะไม่สะดวก ให้ลำช่องปัสสาวะบวมขึ้น แล้วก็เป็นหนองไหลออกมาตามช่องทวารเบา
- อุปทม เกิดเพราะเสพเมถุนกับหญิงแพศยาเป็นกาลกิณีสำส่อน ด้วยกามตัณหา เป็นอาจิณ ( หญิงสัญจรโรค หรือหญิงโสเภณี) เนื่องจากสตรีนั้นคบชู้สู่ชายมาก และช่องสังวาสนั้น ช้ำชอกด้วยกิเลส กามตัณหาเป็นนิจ ด้วยเหตุที่ทวารที่ชุ่มด้วยลามกตัณหานั้น ครั้นชายไปร่วมประเวณีด้วยสตรีนั้น ก็กระทำให้บังเกิดซึ่งโรคสมมุติว่า อุปทม โดยกำลังที่ชุ่มนั้นลำราบดุจน้ำใบไม้ น้ำหญ้าเน่า และมีผู้ไปย่ำน้ำนั้น ก็กัดเอาเปื่อยพังไป เกิดทุกข์เวทนา เป็นอันมาก
- อุปทม เกิดเพราะโทษดานและกระษัยกล่อน และกาฬมูตร มักเกิดขึ้นตั้งแต่สะดือลงไปถึงหัวเหน่า เรียกว่า โรคสำหรับบุรุษ บังเกิดแก่บุคคลบริสุทธิ์มิได้มักมากในทางกามตัณหา คือสมณะ ภิกษุ สามเณร ภิษุณี พราหมณ์ทั้งหลาย อันมีศีลอันบริสุทธิ์ ไม่ได้เสพเมถุน กับมาตุคามเลย โรคนั้นก็บังเกิดขึ้น ด้วยโทษดานและกระษัยกล่อน ทำให้แสบร้อน ปัสสาวะมิได้ รับประทานยาถูกก็หายไป แล้วกลับเป็นอีก หลายครั้งหลายหน ครั้นนานเข้ามักกลาย เป็นหนอง บุพโพโลหิตไหลออกมาทางช่องทวารเบา ให้เจ็บปวดต่างๆ ผู้ใดเป็นดังกล่าวมานี้ เรียกว่า โรคบุรุษ จะได้เป็นอุปทม นั้นหามิได้
- อุปทมเกิดเพราะนิ่ว บุรุษกลายเป็นคชราช มักเกิดที่ปลายองค์กำเนิด แล้วลามเข้าไปในช่องปัสสาวะ องค์กำเหนิดบวมขึ้นแล้วแข็งเข้าเป็นดาน ถ้าสตรี ออกมาแต่ทวารครรภ์เป็นดังดาก สมมุติว่า ดากโลหิต นั้นหามิได้ คือ อุปุทังสโรค ดังกล่าวมานี้ นานเข้าก็ลามมาถึงหัวเหน่า กระทำให้โลหิตเป็นลิ่ม เป็นแท่งออกมา บางทีปลายดากขาดออกมาเหม็นคาวนัก บางทีเป็นหนอง เป็นโลหิตออกมา ให้ปวดหัวเหน่า และท้องน้อย ดังจะขาดใจโรคดังกล่าวมานี้เป็น อติสัยโรค รักษามิได้ ถ้าจะรักษา ก็รักษายาก
- เกิดจากชาย ชอบเสพเมถุนส่ำส่อน จึงเกิดเป็นเม็ดทั้งข้างในและข้างนอก มีหนองออกมา หรือเป็นฝี 2 หน้าขา บางทีเป็นเม็ดขึ้นทั่วร่างกายอาการ ให้เจ็บปวดยิ่งนัก ขัด ยอก ปวดตามกระดูก ขัดปัสสาวะ
- เกิดจากชายเสพเมถุนกับสตรี ซึ่งกำลังมีประจำเดือน ทำให้เกิดเป็นเม็ด เป็นแผล ภายในบ้าง เป็นเม็ด เป็นผื่น เป็นวง เป็นแผ่นตามร่างกายภายนอกบ้าง
อาการ ให้ปวดแสบ ขัดยอก และปวดปัสสาวะ - เกิดจากชายเสพเมถุนรุนแรง กระทบชอกช้ำภายใน มีลักษณะพึงสังเกตคือ เป็นเม็ด เป็นแผ่น แล้วมีน้ำหนอง น้ำเหลืองไหลออกมา บ้างก็เป็มเม็ดที่องคชาต หรือตามร่างกายภายนอก
อาการ ให้ปวดเจ็บยิ่งนัก บางทีขัดตามข้ ปัสสาวะขัดปวด แสบ - เกิดจากชายเสพเมถุนกับสตรีแพศยาลามก เกิดเป็นฝี อุปทุม (กามโรค) เป็นเม็ดขึ้นที่ปลายหรือรอบองคชาต ภายในช่องปัสสาวะ แล้วแตกเป็นโลหิต น้ำเหลือง น้ำหนองออกมา บางก็กลายเป็นฝี
อาการ ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อนดังไฟลวก บาทีให้เน่าแต่ปลายองคชาต ลามเข้าภายในช่องปัสสาวะ ทำให้ปวดแสบขัดปัสสาวะ
อีกนัยหนึ่งเรียกว่า ไส้ลาม มักเรียกคู่กันกับไส้ด้วน มีลักษณะผุดขึ้นเป็นเม็ดเหมือนกัน แต่เม็ดนั้นมักเกิด จากภายในออกมาภายนอก ภายในลามถึงหัวเหน่า ท้องน้อย ผุดขึ้นดังเช่นฝี แตกเป็นหนองออกมาทางช่องปัสสาวะ ชายหญิงเหมือนกัน
อาการ ให้ปวดมวนจุกเสียดแน่นในอก โดยน้ำเหลืองซึมเข้าไปในลำไส้ ให้อาเจียนหรือ ท้องเดินเป็นมูกเลือด เบื่ออาหาร ปวดขัดตามข้อกระดูก ปัสสาวะปวดแสบยิ่งนัก
โทสัณฑะฆาต
โทสัณฑฆาต ย่อมเกิดแต่ชายหญิงทั้งหลาย ถ้าสตรีเป็นด้วยโลหิตระดูแห้ง เป็นก้อนเท่าฟองไข่ไก่ ติดกระดุกสันหลังข้างใน เจ็บหลังบิดตัวอยู่ประมาณ 14–15 วัน ครั้นนานเข้ามักเป็นลมจุกแดกดังจะขาดใจ ถ้ากินเผ็ดร้อนลงไปในโลหิตนั้นก็แห้งเข้าจึงให้ชื่อว่า สันนิจโลหิต ทำให้ลงเป็นโลหิต เป็นลิ่มเป็นแท่งเป็นก้อนออกมา บางทีตกไปในทวารหนักทวารเบา เป็นดังน้ำชานหมากจางๆ ดุจดังดินสอพอง
บุรุษครั้งแรกที่จะเกิดโรคนี้ย่อมเป็นไข้พิษต่างๆ คือว่า ตกต้นไม้และหกล้ม ถูกตี กระทบกระแทกต่างๆ ถ้ามีดังนี้ ก็เป็นเพื่อโรคอันถึงพิฆาต อำนาจอันทุบถองโบยตี ซึ่งทำให้สาหัสชอกช้ำในอกในใจ และโลหิตนั้น ก็คุมกันเข้าเป็นก้อน ทำให้เจ็บร้อนเสียดแทงในอก และเสียดสันหลัง อาการต่างๆ สมมุติว่าเป็นยอดภายใน ครั้นวางยาผิด โลหิตนั้นก็กระจายออกแล่นเข้าตามกระดูกสันหลังก็ได้ชื่อวา สันนิจโลหิต ลงสู่ทวารหนัก ทวารเบา บุคคลทั้งหลายก็เรียกว่า อาสัณฑะฆาต เกิดว่าเป็นไข้อันพิฆาต บอบช้ำ ปีศาจก็พลอยสิงสู่ด้วย ถ้ารู้ไม่ทันก็ตาย
ตรีสัณฑะฆาต
ตรีสัณฑะ เกิดกาฬขึ้นในดี ตับ หัวใจ เป็นเม็ดเท่าเมล็ดเท่าข้าวสารหัก บางทีขึ้นในไส้อ่อน ไส้แก่ ให้ปวด
- ถ้าขึ้นในดี เจรจาด้วยผี พูดเพ้อไป อาการคลั่งเพ้อไปต่างๆ
- ถ้าขึ้นที่ตับ ลงเป็นโลหิต แล้วเป็นผีเข้าสิง เข้าจำอยู่
- ถ้าขึ้นไส้อ่อน ไส้แก่ ให้จุกเสียด ท้องเฟ้อ เป็นมาน
- ถ้าขึ้นในปอด ทำให้กระหายน้ำเป็นอันมาก
- ถ้าขึ้นในหัวใจ เจรจามิได้ แน่นิ่งไป
ถ้าบุคคลใด เป็นดังกล่าวมาได้ 7-8 วัน โลหิตแตกซ่านไปในทวารทั้ง 9 เรียกว่า ลักปิด เป็นต้น แห่งสัณฑะฆาต ก็เป็นกรรมของผู้นั้น ถ้าแก้มิคลาย อันว่า สัณฑะฆาต เ กิดแก่บุคคลผู้ใด ก็ถึงแก่ความตาย
ยาที่ใช้รักษาอาการ มีดังนี้
- ยาแก้น้ำปัสสาวะขาวข้นดังน้ำข้าวเช็ด
ส่วนประกอบ การบูร เทียนดำ ผลเอ็น อำพัน หัวแห้วหมู ขิงแห้ง ยาทั้งนี้หนักสิ่งละเสมอภาค
วิธีปรุงยา บดเป็นผง
รับประทาน ครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2 เวลา ก่อนอาหาร เช้า-เย็น ละลายน้ำสุกเป็นน้ำกระสาย - ยาแก้น้ำปัสสาวะสีเหลืองดังน้ำขมิ้น
ส่วนประกอบ ลูกสมอไทย มหาหิงคุ์ รากเจตมูลเพลิงแดง สารส้ม สุพรรณถันแดง หนักสิ่งละ 1 สลึง
เทียนดำ หนัก 1 บาท
ดอกคำไทย หนัก 2 บาท
วิธีปรุงยา บดเป็นผง
รับประทาน ครั้งละ ครึ่งช้อนชา วันละ 2 เวลา ก่อนอาหาร เช้า-เย็น ละลายน้ำมะนาว เป็นกระสายยา - ยาแก้น้ำปัสสาวะสีแดงดังน้ำฝางต้ม
ส่วนประกอบ หัวแห้วหมู รากมะตูม เทียนดำ รากเสนียด ใบสะเดา รากอังกาบ ผลเอ็น โกฐสอ เกลือสินเธาว์ หนักสิ่งละ 2 บาท
วิธีปรุงยา บดเป็นผง
รับประทาน วันละ 2 เวลา ก่อนอาหาร เช้า – เย็น ละลายน้ำอ้อยแดง เป็นน้ำกระสายยา - ยาแก้น้ำปัสสาวะเป็นสีดำดุจน้ำครามหรือน้ำครำ
ส่วนประกอบ รากย่านาง เถาวัลย์เปรียง รากกระทุงหมาบ้า ฝางเสน หัวแห้วหมู หญ้าชันกาด แก่นขี้เหล็ก รากตะไคร้หางนาค ขมิ้นอ้อย ไพล รากหนามรอบตัว รากหวายขม หนักสิ่งละเสมอภาค
วิธีปรุงยา ต้ม
รับประทาน ต้ม 3 เอา 1 รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ 3 เวลาก่อนอาหาร ละลายน้ำสุกเป็นน้ำกระสายยา