ยารับประทาน ก่อนอาหาร
ยารับประทานก่อนอาหาร ต้องรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย ประมาณ ๓๐ นาที เพราะในขณะที่ ท้องว่าง ยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี
ยารับประทาน หลังอาหาร
ยารับประทานหลังอาหาร ต้องรับประทานหลังอาหาร อย่างน้อยประมาณ ๑๕ – ๓๐ นาที เพื่อประโยชน์ ในการที่ยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดในลำไส้เล็กร่วมกับอาหารได้ดี
ยารับประทาน พร้อมกับอาหาร
ยารับประทานพร้อมกับอาหาร หรือรับประทานน้ำตามมากๆ ได้แก่ ยาแก้ปวดต่างชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาเม็ดสีชมพู ยาทัมใจ ยาบวดหาย เป็นต้น ยาแก้ปวดล้วนมีฤทธิ์เป็นกรด หรือไปเร่งให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อย ออกมา ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและเป็นแผลในกระเพาะ เลือดไม่แข็งตัว กระเพาะทะลุ โลหิตจาง จึงต้อง รับประทานพร้อมกับอาหาร หรือรับประทานหลังอาหารทันที หรือต้องรับประทานน้ำตามมากๆ เพื่อช่วยลด อาการเป็นพิษของยาลงเสีย
ยารับประทาน ระหว่างอาหาร
ยารับประทานระหว่างอาหาร ได้แก่ ยาลดกรดแก้โรคกระเพาะ ซึ่งเกิดจากมีน้ำย่อยและกรด หลั่งออกมามากขณะท้องว่าง หรือขณะมีอารมณ์หงุดหงิดคิดมาก กรดก็จะกัดกระเพาะเป็นแผล ทำให้เสียเลือด หรือเจ็บปวดมาก หรือเป็นมากจนกระเพาะทะลุก็ได้ ยาลดกรดส่วนใหญ่มีฤทธิ์เป็นด่าง มันจะไปทำลายกรด และเคลือบผนังกระเพาะเอาไว้ ดังนั้น ยาลดกรดนี้จะให้ผลดีจะต้องรับประทานขณะที่ท้องว่าง หรือรับประทาน ระหว่างอาหาร (ก่อนอาหาร หรือหลังอาหาร ประมาณ ๒ ชั่วโมง) ถ้าเป็นยาเม็ด ต้องเคี้ยวแหลกก่อนกลืนยา เพื่อช่วยให้ยาออกฤทธิ์ที่กระเพาะ เร็วยิ่งขึ้น
จากคู่มือใช้ยาชาวบ้าน โดย..สำลี ใจดี , สงกรานต์ ภาคโชคดี , ธีรศักดิ์ เรียวโชติสกุล.